วันที่ 23 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกระเบียบราชการ เมื่อปี 2542 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่งต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ โดยการยกเลิกระเบียบดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาและหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจากนี้ไปสถานศึกษาจะไม่มีการเข้าเวรของครูอีกต่อไปแล้ว โดยการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาจะให้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ทำแทน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำแนวปฎิบัติตามมติยกเลิกให้ครูอยู่เวรโรงเรียนให้รับทราบต่อไป นั้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “สพฐ. ได้รับทราบมติดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว และพร้อมรับปฏิบัติทันทีที่มติ ครม. มีผล ทั้งนี้ สพฐ. ได้แต่งตั้งและประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในการจัดเวรยามและการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนสอดคล้องกับมติ ครม. ดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ให้สถานศึกษาได้ใช้เป็นแนวทาง เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่สร้างความสุขและความอุ่นใจให้แก่ครูและนักเรียน”
สพฐ. ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ที่ให้ความสำคัญต่อการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง สพฐ. พร้อมและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อลดภาระครู คืนครูให้แก่ผู้เรียน เพื่อความสุขของครูและผู้เรียนทั่วประเทศ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว