วันนี้ (17 ม.ค.67) นางกมลพัฒน์ สหัสธัชพงศ์ พร้อมนางสาวบุศยรินทร์ สหัสธัชพงศ์ มารดา และน้องสาวของนางสาวพราวรวี หรือ น้องโยโกะ พริตตี้ชื่อดัง ที่ถูกพบเสียชีวิตในคอนโดมิเนียมหรูย่านเอกมัยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 แต่ครอบครัวยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิต เดินทางเข้าพบชุดคลี่คลายคดี สน.คลองตัน เพื่อรับฟังพยานหลักฐาน และคำชี้แจงจากตำรวจ
โดยแม่ และน้องสาวของโยโกะ เปิดเผยก่อนเข้าพบตำรวจว่า วันนี้ได้นำหลักฐานเป็นคลิปจากกล้องวงจรปิดตัวเดียวกับที่นิติบุคคลของคอนโดมิเนียมอ้างกับตำรวจว่าเป็นระบบ Motion Sensor ที่บันทึกเฉพาะช่วงที่กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวพบ เช่น มีคนเดินผ่าน แต่ครอบครัวพบว่าจากกล้องตัวเดียวกัน แต่คนละวัน แม้จะไม่มีคนเดินผ่านหรือความเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตาม กล้องก็ยังบันทึกตามปกติ
ครอบครัวจึงเชื่อว่า 2 ชั่วโมงที่กล้องไม่บันทึก หรือขาดหายไป อาจเกิดอะไรบางอย่างขึ้นกับโยโกะ จึงยังไม่เชื่อคำให้การของนิติบุคคล
ส่วนประเด็นประตูหลังห้องที่ตำรวจอ้างว่าได้เก็บลายนิ้วมือแฝง และไม่พบลายนิ้วมือบุคคลอื่นนอกจากโยโกะนั้น ตนเองยังไม่เห็นพยานหลักฐาน จึงยังไม่ปักใจเชื่อ ขอดูหลักฐานก่อน เช่นเดียวกับการสั่งซื้อสารไซยาไนด์ ที่ตนเองก็ยังไม่เห็นเอกสารคำสั่งซื้อใดๆ และตนเองเคยมาสอบถามผู้กำกับการ สน.คลองตันแล้วครั้งหนึ่ง พบเพียงประวัติการค้นหาคำว่า “ไซยาไนด์” แต่ไม่พบประวัติคำสั่งซื้อ และขวดยาไซยาไนด์ก็ต้องเอาลายนิ้วมือและผลดีเอ็นเอมายืนยัน ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าโยโกะไม่ได้ทำร้ายตัวเอง เพราะไม่มีสัญญาณใด ๆ บ่งบอก
ส่วนเพื่อนชายคนสนิทที่ตำรวจเรียกมาสอบปากคำนั้น คำให้การที่ให้กับตำรวจ ก็ไม่ตรงกับที่เคยคุยกับแม่ในงานศพก่อนที่จะเป็นข่าว เช่น เรื่องที่อ้างว่าโทรศัพท์หาโยโกะหลายครั้ง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโทรคนละช่วงเวลากับที่ไปหาโยโกะที่คอนโดมิเนียม ครอบครัวจึงสงสัยว่าในเมื่อฝ่ายชายไปหาที่คอนโดมิเนียม ทำไมถึงไม่โทรหาโยโกะ
ส่วนที่อ้างว่าฝ่ายชายขึ้นไปบนห้องของโยโกะไม่ได้ เพราะไม่มีคีย์การ์ดเข้าคอนโด แม่เชื่อว่าฝ่ายชายสามารถขึ้นไปบนห้องของโยโกะได้ เพราะห้องของโยโกะมีคีย์การ์ด 2 ใบ และฝ่ายชายก็ทราบรหัสผ่านเข้าห้อง ดังนั้นจึงอยากให้ฝ่ายชายออกมาชี้แจง เพราะหลังจากงานศพก็ไม่เคยติดต่อมาอีกเลย
ทั้งนี้แม่ยอมรับว่าโยโกะเคยรักษาโรคซึมเศร้า แต่ช่วงหลังอาการไม่หนักแล้ว จึงไม่ได้ทานยาแล้ว เพราะเหลือเพียงอาการเครียดเท่านั้น อย่างไรก็ตามครอบครัวโยโกะเตรียมประสานแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาที่จะสามารถเก็บดีเอ็นเอไปตรวจสอบได้ เพราะยังคาใจการทำงานของตำรวจและกองพิสูจน์หลักฐานอยู่
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์