พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จับตัวนายปัญญา อายุ 56 ปี หรือลุงเปี๊ยก สามีของ น.ส.บัวผัน หรือป้าบัวผัน อายุ 47 ปี ผู้เสียชีวิต แล้วปรากฏว่าผู้ก่อเหตุคือกลุ่มเยาวชน 5 คน เป็นผู้ก่อเหตุ
โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรายงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จาก พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภาค 2 ขึ้นมา ถึงมูลเหตุและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ยืนยันว่า ตั้งแต่ที่ลุงเปี๊ยกมามอบตัวกับตำรวจ และรับสารภาพก็ได้พาตัวไปชี้จุดเกิดเหตุ รวมทั้งเก็บพยานหลักฐาน คราบเลือด ดีเอ็นเอ เพื่อส่งตรวจ แต่ผลยังไม่ออก และยังมีเหตุสงสัยทางคดี จึงได้ส่งตัวไปฝากขังไว้ก่อนตามกฎหมาย
หลังจากนั้นได้ส่งชุดสืบสวนไปตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดตามข้อสงสัย และเมื่อได้ภาพจากกล้องวงจรปิดมาแล้ว ก็พบว่าผู้ก่อเหตุฆาตกรรมไม่ใช่ลุงเปี๊ยก จึงได้ไปทำเรื่องขอปล่อยตัวออกจาเรือนจำทันที พร้อมยอมรับว่า ในส่วนตัวคดีนี้ก็มีความสงสัยจึงสั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ลงไปตรวจสอบรายละเอียดในเชิงลึกทั้งหมดในทุกประเด็น และเชื่อว่าจะได้ความกระจ่างทางคดี หากพบว่ามีตำรวจนายใดเข้าไปเกี่ยวข้องทางคดีที่ผิดกฎหมายก็จะดำเนินการอย่างไม่ละเว้น
ส่วนประชาชนที่ไม่สบายใจกับเรื่องการทำงานของตำรวจในคดีนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดเผยว่า ขอให้ตำรวจทำงานให้ครบถ้วนทุกประเด็น และตามพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และจะเคลียร์ได้ทุกประเด็น ในตอนนี้หากพูดไปก็เหมือนการแก้ตัว หากพบใครทำผิดจริงก็จะดำเนินคดี ไม่มีการช่วยบุคคลใด และจะเห็นได้กว่า ช่วงทีเกิดเหตุตอนแรกก็ได้สั่งการย้ายตำรวจที่มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาออกมาจากพื้นที่แล้ว เพื่อป้องกันการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของตำรวจชุดทำคดี
ส่วนการนำตัวลุงเปี๊ยก ไปฝากขังในระหว่างที่ทำคดียังไม่สิ้นสุดนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยืนยันว่า ทางตำรวจได้ค้นหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิดมาก่อนสื่อมวลชน หลังจากการสอบสวนแล้วพบข้อสงสัย จึงได้ไปไล่กล้องตรวจสอบทั้งหมด แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้ไปคุยกับเจ้าของกล้องวงจรปิดว่า ตำรวจ หรือ สื่อมวลชน เข้าไปเจอภาพจากกล้องวงจรปิดก่อน ในช่วงเย็นวันนี้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จะรายงานขึ้นมาให้ทราบถึงรายละเอียดทางคดีทั้งหมด
ผบ.ตร.กล่าวถึงกรณีที่สังคมกล่าวหาถึงครอบครัวตำรวจมักจะไปก่อเหตุ โดยยอมรับว่าต้นทุนทางสังคม ตำรวจมักจะติดลบอยู่แล้ว แต่ตำรวจทั้งประเทศมีอยู่กว่า 2 แสนนาย แต่เมื่อมีผู้ก่อเหตุที่เป็นลูกตำรวจ หรืออดีตตำรวจ ก็มักจะเป็นข่าว แต่อยากให้เห็นว่าที่ผ่านมาก็มีเยาวชนที่ก่อเหตุอาชญากรรมที่ไม่ใช่ลูกตำรวจอยู่จำนวนไม่น้อย แต่อยากให้เชื่อมั่นว่า ที่ผ่านมาตำรวจก็ทำคดีไปตามพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และพยายามตัดวงจรให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับคดี ครูเจี๊ยบ น้องหยอด ที่พยายามทำให้เห็นวงจรอาชญากรรมของเครือข่ายนี้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมสถิติทางคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนย้อนหลังไป 5 ปี เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรม และจะส่งต่อให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการในการแก้กฎหมายกับเยาวชนที่กระทำผิดร้ายแรงได้บ้าง โดยให้ส่งรายงานมาให้ภายใน 31 ม.ค. นี้