วันนี้ ( 14 พฤศจิกายน 2566 ) ที่ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึง การแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งของอาชีวะต่างสถาบัน ว่าในส่วนของกระทรวงจะต้องดูแลสถานศึกษา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีปัญหานักเรียนตีกัน หรือรับน้องด้วยวิธี รุนแรง ซึ่งได้มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ทุกปี เพื่อมาบังคับใช้กับสถาบันการศึกษา
แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางสถาบันด้วยว่าจะมีความแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคงไม่สามารถพูดได้ว่า อยู่ในความรับผิดชอบของอว.เพียงฝ่ายเดียว น่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการกวดขันบังคับใช้กฎหมาย พกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ และการลาดตระเวนในพื้นที่ต่างๆ
ส่วนจะต้องมีการสแกนอาวุธก่อนที่เด็กจะมีการเข้าโรงเรียน หรือสถาบัน นางสาวศุภมาศ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บอกว่าไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ เราต้องมองในหลายมิติ ต้องใช้การพูดคุยทำความเข้าใจ ระหว่างครูกับนักเรียน และรุ่นพี่กับรุ่นน้อง หรือเพื่อนกับเพื่อน เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการบาดเจ็บ
ซึ่งตอนนี้เรื่องขยายรุกรามมากกว่าเรื่องระหว่างสถาบัน เพราะมีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ จึงกลายเป็นมิติทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว ผู้ปกครองเองก็ต้องช่วยกันดูแลลูกหลานว่ามีอาวุธอยู่ในบ้านหรือไม่ รุ่นพี่และเพื่อนช่วยกันสอดส่องดูแล เชื่อว่าจะป้องกันได้ตั้งแต่ชั้นแรก
พร้อมกันนี้นางสาวศุภมาส ยังเน้นย้ำว่าตอนนี้เมื่อสถาบันการศึกษาเห็นแล้วว่า ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของสถาบัน แต่มีผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเสาหลักและที่พึ่งเดียวของครอบครัว และยังเป็น ครูอาจารย์ ต้องมาโดนลูกหลงโดยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ตนก็เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีความรู้สึกต่อเรื่องนี้ และหลังจากนี้น่าจะได้รับความร่วมมือมากขึ้น เพราะกฎเกณฑ์ทุกอย่างมีอยู่แล้ว
แต่ก่อนหน้านี้การตรวจตาไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จนเชื่อว่าไม่มีใครเห็นเหตุการณ์นี้แล้วจะยิ้ม หรือมีความสุข หากเด็กในสถาบันเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ รัฐมนตรีอุดมศึกษาฯ ระบุว่า ก่อเหตุต้องไปตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กของสถาบันใด แต่ทุกสถาบันล้วนมีระเบียบและกฎเกณฑ์อยู่แล้ว
ภาพ – วิชาญ โพธิ