เมื่อวันที่ 20 ต.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พ.ต.อ.นรวัตน์ คำภิโล รองผบก.สอท.4 นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ สอท. และผู้ให้บริการเครือข่าย ร่วมกันแถลงผลการทลายเครือข่าย
พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อสกัดไม่ให้มีการเผยแพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้งกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการย้ายฐานปฎิบัติการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังสามารถอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยได้ กระทั่งพบว่ามีการเช่าอาคารสำนักงานของเอกชน ในการวางเครื่องซิมบ๊อกเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ 5 จุด ในพื้นทึ่กทม. ตรวจยึดซิมบ๊อก 10 กล่อง ยึดซิมการ์ด 320 เลขหมาย จากนี้จะทำการขยายผลโดยจะเชิญผู้ที่เช่าสำนักงานดังกล่าวมาสอบปากคำ พร้อมแจ้งข้อหา”มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบนุญาต และความผิดฐาน “ประกอบกิจการ โทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับ ใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า ขบวนการนี้จะเช่าอาคาร สำนักงานไว้สำหรับวางเครื่องซิมบล็อกเป็นลักษณะของการใช้พื้นที่ในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ แล้วใช้เราเตอร์ของอาคาร ทำให้กลืนไปกับปริมาณการใช้งานของอาคาร เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตรวจจับได้ยากขึ้น นอกจากนี้การเข้ามาตั้ง SIM BOX ในลักษณะนี้ทำให้หมายเลขการโทรแสดงเป็นหมายเลขภายในประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการขึ้นหมายเลขหน้าเบอร์โทร Prefix ของ กสทช.ที่เคยกำหนดไว้ และทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการทลายซิมบ็อกครั้งนี้ เป็นการตัดวงจรขบวนการคอลเซ็นเตอร์ได้ 160,000 ครั้ง ซึ่งเท่ากับว่า1 เลขหมายเฉลี่ยสามารถโทรหลอกเหยื่อได้ 500 ครั้งต่อวัน
นอกจากนี้ทางบช.สอท. กสทช. ได้ประสานกับผู้ให้บริการนำเลขหมายที่หลอกประชาชน นำไปตรวจสอบย้อนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากการที่ประชาชนแจ้งความร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสามารถนำไปสู่การขยายผล จับกุม ซึ่งปัจจุบันนอกจากมิจฉาชีพจะใช้กลอุบายในการโทรหลอกลวงเช่นในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อที่จะโทรหลอกลวงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการหลงเชื่อ สูญเสียทรัพย์สิน หรือ กระทำการข่มขู่ทวงหนี้ทำให้เกิดความหวาดกลัว ผ่านการใช้อุปกรณ์ SIM BOX เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ที่เป็นการลักลอบใช้เป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงประชาชนบุคคลทั่วไปภายในประเทศ