หนึ่งในเส้นทางการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับคดี ที่ถูกเปิดเผยออกมา ถูกระบุว่า มีการจ่ายเงินให้กับผู้สื่อข่าวด้วย ซึ่งแม้ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล จะยืนยันว่า การให้เงินกับผู้สื่อข่าว ที่ไปร่วมทำงานด้วยกัน จะไม่ใช่การจ้างงาน และไม่ใช่การจ่ายรายเดือน แต่ทันทีที่มีคำยืนยันว่า “จ่ายจริง” ย่อมถูกตั้งวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า นี่เป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่
เฉพาะที่บิ๊กโจ๊กระบุชื่อผู้สื่อข่าวไปมีเพียง 3-4 คน แต่ที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้ข้อมูล ระบุว่า มีรายชื่ออยู่ประมาณ 10 คน โดยอ้างว่า มีการจ่ายเป็นรายเดือน ใช้บัญชีม้าโอนให้ ซึ่งอีกไม่นานคาดว่า รายละเอียดส่วนนี้จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น
สื่อสะท้อนมุมมองรับเงินทำข่าวผิดจริยธรรมวิชาชีพ
ทัสนีย์ ดำมุณี ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวไทย ระบุว่า ถ้าไปถามผู้สื่อข่าวในสายอาชญากรรม มองเรื่องการจ่ายเงินให้ผู้สื่อข่าวว่า มองได้หลายแบบ มุมหนึ่งอาจเป็นเงินอำนวยความสะดวกในการทำข่าว แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจหมายถึงการซื้อตัว
แต่มองว่าสุดท้ายแล้ว นักข่าวที่มีสังกัด มีกระบวนการคัดกรองข่าวหลายขั้นตอน ต้องผ่านกองบรรณาธิการข่าว จึงไม่ง่ายที่ใครจะซื้อตัวได้ แต่ที่น่ากังวล คือนักข่าวไม่มีสังกัด
ด้าน อโนทัย สกุลทอง ผู้สื่อข่าวอาวุโส เนชั่นทีวี ระบุว่า แม้จะทำงานใกล้ชิด และจำเป็นอย่างมาก ที่ต้องสนิทสนมกับแหล่งข่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ แต่ผู้สื่อข่าวหลายคนก็บอกว่า ไม่กล้าเสี่ยงรับเงิน เพราะนอกจากผิดจรรยาบรรณแล้ว ต้องยอมรับว่า จะมีผลต่อความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวได้
นักวิชาการเรียกร้ององค์กรวิชาชีพสื่อต้องชัดเจน
ส่วนมุมมองของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รองศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ที่เคยเป็นผู้สื่อข่าว และเป็นอาจารย์สอนการทำข่าว เรียกร้องให้สภาวิชาชีพ สอบสวนข้อเท็จจริง เพราะแม้การจ่ายเงิน จะอ้างว่าเป็นสินน้ำใจ แต่สื่อ อยู่ในฐานะลูกจ้างบริษัทที่รับรายได้จากต้นสังกัด แต่หากเรื่องนี้ ไม่มีมูลความจริง นักข่าวที่บิ๊กโจ๊กอ้างถึง ก็ต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีตนเอง ด้วยการดำเนินคดี
ถอดรหัส “บิ๊กโจ๊ก” ส่งสัญญาณให้เงินสื่อ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิไลวรรณ จงวิไลเกษม บอกว่า ข้ออ้างเรื่องเงินสินน้ำใจนักข่าว มีเส้นบาง ๆ กับคำว่า สินบน ที่มีระเบียบทางจริยธรรมวิชาชีพ แต่การออกมาเปิดเผยเรื่องจ่ายเงิน บิ๊กโจ๊ก อาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่งการพูดถึงชื่อบุคคล และต้นสังกัดชัดเจน หากเป็นเรื่องจริง จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อนักข่าวคนอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ถูกพูดถึง
ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประชุมร่วม 7 องค์กรสื่อ มีข้อสรุปให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน สภาองค์กรสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ไทย ตรวจสอบจริยธรรมผู้ถูกกล่าวหาแล้ว โดยเรียกร้องให้ต้นสังกัดของผู้ที่ถูกพาดพิงตรวจสอบด้วยเช่นกัน