คัดลอก URL แล้ว
MOU บันทึกความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ฉีกทิ้ง

MOU บันทึกความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ฉีกทิ้ง

ยิ่งกว่าบทละครคงหนีไม่พ้นสถานการณ์การเมือง ที่มีประเด็นร้อนแรงไม่เว้นในแต่ละวัน นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ความหวังจากประชาชนที่ต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง เพื่อลบภาพจำจากขั้วการเมืองเดิมที่มาจากพรรคของลุง ๆ

แสงความหวังดูเมื่อจะส่องสว่างมากขึ้นเมื่อพรรคอันดับ 1 เป็นพรรคก้าวไกล และพรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น 2 พรรคที่แนวทางต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจแตกต่างกันในบางมุมมองทางการเมือง จนถูกมองว่าเป็น ‘พรรคพี่น้องกัน’

ทำให้ทั้ง 2 พรรค ต้องจับมือร่วมกันเป็นข้าวต้มมัด ด้วยความหวังจากเสียงของประชาชนที่เลือกมา นำไปสู่การจับมือกับอีก 6 พรรค ก่อเกิดเป็นการลงนาม MOU ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล ด้วยจำนวนรวม ส.ส. 312 คน

พรรคก้าวไกล จึงมีบทบาทสำคัญในการเดินเกมจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคอันดับ 1 ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยที่คาดหวังไว้ก่อนเลือกตั้งจะได้แลนด์สไลด์กว่า 300 เสียง ต้องเป็นฝ่ายเดินตาม เนื่องด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองไทย

แม้ฝั่ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องการคะแนนสนับสนุนจาก ส.ว. ในการโหวตนายกฯ ที่ทางพรรคก้าวไกลเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่เมื่อถึงวันโหวตจริงก็ไม่เป็นดั่งที่หวังไว้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าฝั่ง ส.ว. ส่วนใหญ่ ไม่โหวตให้อย่างแน่นอน อันเนื่องมาจากนโยบายของพรรคก้าวไกล ในการผลักดันแก้ไข มาตรา 112

ท้ายสุดพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในฐานะแกนนำ จึงส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่ติดตรงที่ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล สุดท้ายพรรคเพื่อไทยต้องยอมฉีก MOU ถีบส่งพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อเป็นเหตุผลให้ ส.ว. โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยในที่สุด

ช่วงก่อนเซ็น MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

หลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคะแนนเสียงถูกเทไปทางฝั่งพรรคก้าวไกล จนได้เป็นพรรคอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียง 151 เสียง ทางพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับ 2 ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล

“ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฎแล้วว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และร่วมสนับสนุนเลือกพรรคเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปไตยอย่างท่วมท้น อันแสดงถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ในโอกาสนี้ พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง

โดยกติกาประชาธิปไตย และโดยสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยได้เคยแถลงต่อพี่น้องประชาชนไว้ พรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดี และยอมรับที่พรรคก้าวไกลเสนอตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเห็นด้วยที่พรรคก้าวไกลจะเชิญพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้แถลงไว้ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า ไม่มีแนวความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นในการหารือ และกระบวนการต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายดำเนินการ จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”

พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นัดหารือกับอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม ถึงแนวในการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะมีอีก 2 พรรคเข้าร่วมด้วยคือ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง รวมเป็น 8 พรรค 313 เสียง

“การจัดตั้งรัฐบาลของผม มีเอกภาพ ชัดเจน และมีแผนงานเป็นรูปเป็นร่าง ขอประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักลงทุน และมิตรประเทศ สบายใจในเสถียรภาพและศักยภาพประเทศไทย”

นายพิธา โพสต์ภาพ-ข้อความ ผ่าน IG หลังการหารือกัน 5 พรรค

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำจากพรรคเพื่อไทย / พรรคประชาชาติ / พรรคไทยสร้างไทย / พรรคเสรีรวมไทย / พรรคเพื่อไทรวมพลัง / พรรคเป็นธรรม และ พรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีวาระร่วมกันจำนวน 23 ข้อ ซึ่งจะมีเสียง ส.ส. รวมกัน จำนวน 313 เสียง

ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ทางพรรคก้าวไกลจะดำเนินการผ่านรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นต่อสภาแล้วแต่ไม่ถูกบรรจุเป็นวาระ ครั้งนี้การแก้ไขมาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมายที่พรรคเสนอแก้ไข

หลังเซ็น MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

เกิดกระแสข่าวลือที่ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจลาออก เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไปซบพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

“ยืนยันว่า ไม่ทราบข่าวลือ ข่าววิเคราะห์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริง หากเกิดการยุบรวมพรรคพลังประชารัฐ และชิงการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกล ยืนยันครั้งที่ 501 ว่า ยึดมั่นตามเจตนารมณ์ สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯคนที่ 30 และร่วมมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้”

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หน้าพรรคเพื่อไทย

เกิดความระหองระแหง ระหว่าง น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับทาง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หน้าพรรคเพื่อไทย ปมคำถามเรื่อง Advance MOU ที่ น.ต.ศิธา ได้ถามในวันแถลงข่าวลงนาม MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

‘เพื่อไทย’ แจงปมการสลับขั้วตั้งรัฐบาล

“ผมขอเรียนยืนยันอย่างหนักแน่นในจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารว่า..พรรคเพื่อไทยยืนยันในจุดยืนที่ชัดเจนที่ประกาศต่อสาธารณะหลายครั้ง ว่าเราจะไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล แม้ว่าเราจะเป็นพรรคอันดับสอง

ผมและพรรคเพื่อไทยมีท่าทีหลายครั้งที่ชัดเจนว่าเรายืนยันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้การจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคร่วม ที่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่าจะจับมือกันและสนับสนุนให้คุณพิธาซึ่งเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของพรรคแกนนำได้บรรลุเป้าหมายจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้ในระหว่างนั้นประเด็นที่มีการพูดคุยและไม่ลงตัวระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย คือเรื่องตำแหน่งประธานสภา ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม โดยทางฝั่งพรรคก้าวไกลมองว่าพรรคอันดับที่ 1 ควรจะได้รับตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยังเห็นต่างในกรณีนี้

“เราไม่สามารถให้ตำแหน่งประธานสภาฯ แก่พรรคก้าวไกล เพราะคุณได้เพียง 151 เสียง หากมีความขัดแย้งก็ให้โหวตในสภาฯ ศักยภาพคนของพรรคเพื่อไทยเหมาะสมมากกว่า ไม่อยากเห็นสามเณรบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส อย่ายอมให้เขาง่ายๆ คนที่ออกมาห่วงใยก้าวไกลอยากถามว่า คุณเป็นก้าวไกลหรือเพื่อไทย ประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยศักยภาพ พรรคก้าวไกลต้องถอนออก จะทำให้รัฐบาลผสมสามารถเดินทางไปสู่การทำงานร่วมกันได้ แต่ปัญหาแก้ไม่ได้เหมือนหินอยู่ในรองเท้า”

นายอดิศร เพียงเกษ ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาของพรรคเพื่อไทย

ประเด็นประธานสภาสุดท้ายไปจบที่คนกลาง คือการดัน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา และให้คนของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย นั่งตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

หลัง ‘พิธา’ โหวตนายกฯไม่ผ่านครั้งแรก

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ส่งผลทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา มีมติ ไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบแรก

“การโหวตรอบที่ 2 จะเสนอเปลี่ยนนายกหรือไม่นั้น อยู่ที่การพูดคุย ในพรรคเพื่อไทยทำ MOU ชัดเจนสนับสนุนพรรคก้าวไกลจนสุดความสามารถ เชื่อว่า 8 พรรคร่วม จะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แต่หากวันที่ 19 ก.ค. นายกไม่ใช่ชื่อพิธา และไม่ได้ใช่ชื่อที่อยู่ใน 8 พรรคร่วม นั่นหมายความว่าความหวัง ความต้องการของพี่น้องประชาชนถูกทำลาย”

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกล ประกาศเดินเกมการเมืองด้วยแผน 2 สมภูมิ คือ 1. การโหวตนายกฯ รอบที่ 2 และ 2. การยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ

“หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้วเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ๆ ตนพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้”

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

โหวตนายกฯ รอบ 2 ล่ม เหตุมติสภาไม่เห็นด้วยเสนอชื่อซ้ำ

เป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 โดยระหว่างการอภิปรายในสภา ถึงกรณีการเสนอญัตติซ้ำ ในการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องกกต. สั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

หลังจากที่มีการอภิปรายกว่า 6 ชั่วโมง ในประเด็นการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ นั้นเป็นการเสนอญัตติซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่ ผิดตามข้อบังคับฯ ที่ 41 หรือไม่ ซึ่งได้มีการอภิปรายในกรอบข้อบังคับฯ ข้อที่ 151 ให้รัฐสภาลงมติวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว

มีคะแนนเสียงเห็นด้วย 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 คน งดออกเสียง 8 คน ซึ่งคะแนนเห็นด้วยว่า ญัตติดังกล่าว เป็นญัตติต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 เกินกึ่งนึงจึงไม่สามารถจะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ ในสมัยประชุมนี้

นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุมี 3 แนวทาง หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐสภา ในการเสนอชื่อซ้ำเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี

“ทางไม่ตันง่ายๆ ทุกวันนี้มี 3 แนวทาง คือ กอดกัน 8 พรรคไปเป็นฝ่ายค้าน, สานฝันประชาชนด้วยการเป็นรัฐบาล มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ แต่ต้องยอมกลืนเลือดแยกทางก้าวไกล และทางสุดท้าย ยังรวมกัน 8 พรรค แต่ต้องคุยกับ สว.และก้าวไกล ในเงื่อนไขที่ยังติดใจ เช่น ลดท่าที ม.112 หรือลดท่าทีแข็งกร้าว ซึ่งต้องคุยกับก้าวไกลว่ารับได้หรือไม่กับข้อเสนอนี้”

นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกล โดยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าว ส่งไม้ต่อ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาล

“เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสประเทศไทย ให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ของพันธมิตร 8 พรรคร่วม ดังนั้นในการประชุมรัฐบาลครั้งต่อไปครั้งต่อไปพรรคก้าวไกล จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกันที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล”

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล

‘เพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สู่การฉีก MOU

หลายพรรคการเมืองจากฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม ทั้ง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ เข้าหารือกับทางพรรคเพื่อไทย โดยทุกพรรคมีจุดยืนสำคัญคือไม่แตะ ม.112

การหารือของพรรคการเมืองในครั้งนั้น เกิดกระแส ‘ช็อกมินต์’ ที่เป็นเมนูเครื่องดื่มของคาเฟ่จากพรรคเพื่อไทยเสิร์ฟรับรองแกนนำพรรคต่าง ๆ จนเกิดแฮชแท็ก #เมนูหักหลังเพื่อน

แหล่งข่าวจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยถึงการเลื่อนการหารือของ 8 พรรคการเมือง ว่า ทางพรรคเพื่อไทยได้แจ้งไปยังทั้ง 7 พรรคขอยกเลิกการพูดคุยดังกล่าว ส่วนสาเหตุในการยกเลิกยังไม่แน่ใจ คาดว่าอาจรอดูสถานการณ์อีกครั้ง และคาดว่าพรรคเพื่อไทยอาจยังคุยกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่ลงตัว

พรรคเพื่อไทยแถลงเริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม หลังการหารือกัน 2 พรรค ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

“พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ”

ข้อความบางส่วนในแถลงการณ์ ของพรรคเพื่อไทย

‘ก้าวไกล’ แถลงขอโทษประชาชน ตั้งรัฐบาลตามเจตจำนงไม่ได้ ยัน ‘เพื่อไทย’ ไม่เคยเจรจาให้ถอย ม.112 เลย

“ในการพูดคุยกันกับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีการขอให้พรรคก้าวไกลพิจารณาถอยเรื่องการเสนอมาตรา 112 และตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคย มีการเจรจากันเรื่องนี้ พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดที่พรรคเพื่อไทยไปพูดคุยไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะมีเรื่อง ม.112 หรือไม่ก็ตาม”

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง