คัดลอก URL แล้ว

มนทิรา จูฑะพุทธิ รับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” ปี 2565 และได้รับเลือกจากองค์การยูนิเซฟให้เป็น “Consultancy Professional Editor and Copy Editor” ปี 2566

สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลบรรณาธิการดีเด่น โดยผู้ที่ได้รับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น” คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2565 ได้แก่ “มนทิรา จูฑะพุทธิ”

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมฯ ได้ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกบรรณาธิการดีเด่น มีมติเอกฉันท์มอบรางวัลบรรณาธิการดีเด่น ให้แก่ นางสาวมนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้ซึ่งทำหน้าที่สร้างสรรค์หนังสืออันมีคุณภาพในฐานะบรรณาธิการมายาวนาน และสร้างคุณูปการแก่วงการหนังสือของไทยมาโดยตลอด

“มนทิรา” ทำงานด้านบรรณาธิการมากว่า 30 ปี อดีตเคยเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ และบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร woman&home นิตยสารหัวนอกจากอังกฤษ 

นอกจากนี้ “มนทิรา” ยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์สามสี ที่เธอเป็นผู้ก่อตั้ง เธอเป็นบรรณาธิการที่มีสายตาแหลมคม หนังสือที่เธอคัดสรรนำมาจัดพิมพ์เป็นเล่มนั้นสร้างปรากฎการณ์ทั้งยอดขายและรางวัลมานับเล่มไม่ถ้วน นอกจากการเป็นบรรณาธิการ เธอยังเป็น “นักสัมภาษณ์ และ “นักเขียน” ที่มีแฟนนักอ่านติดตามผลงานของเธออย่างเหนียวแน่น เธอสร้างสรรค์งานเขียนหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 จวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งประเภทสารคดี ฮาวทู บทสัมภาษณ์ และความเรียง ที่สร้างชื่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ให้แก่เธอ คือสารคดีท่องเที่ยว และการเป็นนักเขียนที่เรียกว่า “โกสต์ ไรเตอร์” ด้วยการเขียนประวัติชีวิตบุคคล หนังสือชีวประวัติสองเล่มที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักอ่านอันถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงได้แก่ “บนทางชีวิตนิรมล เมธีสุวกุล” และ “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ก้าวย่างแห่งปัญญา”

โดยในงานการประกาศรางวัล “มนทิรา” ได้แสดงทัศนะในเรื่อง “บทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน” ว่า

“ดิฉันแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ “บทบาทของบรรณาธิการ” และ “สังคมหนังสือปัจจุบัน” ซึ่งเมื่อพูดถึงบทบาทของบรรณาธิการ ก็มีคำถามชวนคิดสองเรื่องคือ หนึ่ง-บรรณาธิการเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นธุรกิจดาวร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และสอง-บรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญหรือไม่ ในยุคที่หน้าจอเข้าถึงคนได้มากกว่าหน้ากระดาษ ส่วน “สังคมหนังสือปัจจุบัน” นั้น แน่นอนว่าแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือก บวกกับกระแสสังคม สิ่งที่เห็นชัดก็คือ หนังสือเล่มที่เรียกว่าสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ไม่สามารถ stand alone ได้ แต่ต้อง cross media กับดิจิตอลแพลตฟอร์ม

“บทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบันจึงเป็นทั้งเรื่องของปัจเจก คือตัวบรรณาธิการเองที่จะต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถ ให้เท่าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กับบริบทของสังคมที่แปรเปลี่ยนไป”

“มนทิรา” เชื่อมั่นในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เธอจึงใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีด้วยการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นการคืนกลับให้กับสังคมผ่านผลงานการเขียนหลากหลาย และทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการจิตอาสา” ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ มากมาย

ล่าสุด นางสาวมนทิรายังได้รับเลือกจากองค์การยูนิเซฟให้เป็น “Consultancy Professional Editor and Copy Editor” ปี 2566 ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง