คัดลอก URL แล้ว
มุมมองนักการเมืองต่อนโยบาย วิถีเกษตรกรรมไทย “อาหารมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง”

มุมมองนักการเมืองต่อนโยบาย วิถีเกษตรกรรมไทย “อาหารมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง”

เครือข่ายภาคประชาชน จับมือจัดเวที 27 เมษาฯ นี้ประชันวิสัยทัศน์ – นโยบาย “เกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหาร” เลือกตั้ง 2566 หลังพบไร้นโยบายหาเสียง หนุนทำเกษตรยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหาร น่าตกใจพบสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ เกินค่ามาตรฐานอื้อ กำลังลามสู่จานอาหารกลางวันเด็กในรร. วอนทุกพรรคมองให้ทะลุทุกมิติ และหันมาใส่ใจปัญหาเด็กเตี้ย แคระ เกร็น อ้วน 

จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในส่วนของประเทศไทยในระยะ 5 ปี แรก (2559-2563) โดยมี 9 เป้าหมายที่สถานการณ์อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของค่าเป้าหมายที่กำหนด  โดยหนึ่งในนั้นมี เรื่องการยุติความหิวโหยและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ  การยุติภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง การมีระบบเกษตรอาหารยั่งยืน การลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ เป็นต้น 

ทัศนีย์ วีระกันต์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึงการที่ประเทศไทยตกเป้า SDGs หลายตัวว่า หากเรามองไทยเป็นประเทศส่งออกอาหาร เป้า SDGs แบบนี้ เราไม่น่าตกเกณฑ์ ซึ่งสะท้อนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเลย ยิ่งสถานการณ์ช่วงโควิด เราได้เห็นคนจนที่ต้องมายืนรอรับอาหาร ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลไทยไม่เคยมีการพูดถึงการเข้าถึงเรื่องสวัสดิการอาหาร หรือการเข้าถึงอาหารของคนกลุ่มต่างๆ  ฉะนั้นการตกเกณฑ์ SDGs สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง 

“ยิ่งดูนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ไม่มีใครพูดถึงการมีสวัสดิการอาหาร หรือการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันเรื่องอาหารของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งๆที่มีงานวิจัยหลายชิ้นก็ระบุให้เห็นตัวเลข ค่าใช้จ่ายของคนจน หมดไปกับค่าอาหารมากกว่า 50% ของรายได้ที่เขาหามาได้ ขณะที่ชนชั้นกลาง ค่าใช้จ่ายเรื่องของการเดินทาง จะมาเป็นอันดับหนึ่ง” 

ทัศนีย์ ชี้ว่า วันนี้ระบบอาหารถูกควบคุมด้วยบรรษัททั้งหลาย และอยู่ในระบบผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น เนื้อสัตว์ เห็นชัดเจน ดังนั้น พรรคการเมือง หรือรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะมีวิธีการทำอย่างไรให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการด้านอาหารไปอยู่ที่ชุมชน

สารเคมีตกค้างผักผลไม้ มากกว่าซื้อมาแล้วบอกให้ล้าง สำหรับปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานนั้น นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์  เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)  กล่าวว่า จากสถานการณ์การเฝ้าระวังของการสุ่มตรวจของ Thai-PAN  ปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานเกินครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ในประเทศที่มีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสูงกว่า เช่น ในญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ พบการตกค้างเพียง 3-5% เท่านั้น 

“ผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วๆไป เช่น องุ่น พบสารเคมีตกค้างเกือบ 100% ของกลุ่มตัวอย่าง  หรือส้มก็เช่นเดียวกันพบสารเคมีตกค้าง ส้มอยู่ในอาหารหลายๆ ประเภท หากเป็นเด็กจะได้กินตั้งแต่หย่านมแม่  น้ำส้มคั้น ถือเป็นอาหารแรกๆที่เด็กได้รับ ซึ่งจากผลตรวจในห้องปฏิบัติการ พบว่า 90% ของกลุ่มตัวอย่างเจอสารพิษตกค้างในเนื้อส้ม ขณะที่น้ำส้มกล่อง สุ่มมา 10 ยี่ห้อ 5 ยี่ห้อพบสารพิษตกค้าง ฉะนั้น มันเกินไปกว่าแค่ซื้อมา แล้วบอกให้ประชาชนล้าง แต่จะต้องมีการจัดการที่ดีกว่านี้”

นางสาวปรกชล ให้ข้อมูลอีกว่า  มูลนิธิการศึกษาไทย ได้สุ่มตรวจวัตถุดิบทั้งผักและผลไม้ที่นำมาทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน พบสารพิษตกค้าง  ขณะที่การตรวจปัสสาวะก็พบสารพิษตกค้างปนเปื้อนมาในปัสสาวะเด็ก สถานการณ์แบบนี้เรายอมไม่ได้ ต้องถูกจัดการอย่างเร่งด่วน  

“วันนี้เรายังไม่พบพรรคการเมืองไหนมีนโยบายที่จะเข้ามาดูเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านอาหารเลย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในอาหารผัก ผลไม้ โดยเฉพาะการเข้มงวดตรวจสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีห้องแล็บที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” 

นางสาวปรกชล กล่าวถึงข้อเสนอถึงพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ ว่า การทำให้อาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียนปลอดภัย ต้องมีการยกระดับ อย่างน้อยให้วัตถุดิบสักครึ่งหนึ่งมาจากการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เชื่อว่า จะสามารถลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ลงไปได้ อีกทั้งยังเป็นการรับประกันระยะยาวสุขภาพของคนจะดีขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถจัดการได้ รวมถึงการมีระบบเฝ้าระวังที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตรวจสอบความไม่ปลอดภัยของสินค้านำเข้า ตั้งแต่หน้าด่าน  และการมีแล็บที่มีประสิทธิภาพ 

ขณะที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาเด็กไทยอายุ 3-5 ปี มากถึง 11.7% และอายุ 6-14 ปี จำนวน 9.7% ที่อยู่ในสภาวะเตี้ยและแคระเกร็น เด็กไทยของเรา มีปัญหาทั้งขาด และเกิน โดยเด็กเล็ก “ขาด” มีปัญหาเตี้ย และแคระเกร็น กระทบสติปัญหาและการเรียนรู้ ส่วนเด็กวัยเรียน ก็พบปัญหา “เกิน”  โรคอ้วน ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 

“หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหาเด็กไทยเตี้ยแคระเกร็นได้ คือเรื่อง 1 พันวันแรก การอุดหนุนช่วยเหลือโภชนาการของแม่ การดูแลสุขภาพแม่ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ – 2 ปี แม้ที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือดูแลในส่วนนี้ร่วมกับท้องถิ่น มีเพียงท้องถิ่นที่เข้มแข็งเท่านั้นที่ทำเรื่องนี้ได้ ยังไม่ได้เป็นนโยบายระดับชาติ”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงลัดดา กล่าวว่า เวลาพรรคการเมืองพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คนไทยต้องดูด้วยว่า แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้หรือไม่ มองให้ทะลุทุกมิติ หรือแค่การแจกเงินชั่วคราว เราไม่อยากเห็นนโยบายระยะสั้น อยากเห็นนโยบายระยะยาว แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการไม่มีคอร์รัปชั่น

“ข้อเสนอถึงพรรคการเมือง เรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียน นมโรงเรียน เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนต่อไป เพราะช่วยคนที่ด้อยโอกาส แต่จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเข้าถึงอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ และสุดท้าย อยากให้ช่วยกันสนับสนุนกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” 

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิชีววิถี(BioThai) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกับ 101 PublicPolicy ThinkTank และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ  โดยการสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดให้มีเวทีพรรคการเมืองพบภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรประชาชน เพื่อที่พรรคการเมืองจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอนโยบาย และตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 13.00-16.10 น. ณ สวนชีววิถี/สวนผักคนเมือง ไทรม้า นนทบุรี ซึ่งจะทำให้ให้ประชาชนในเครือข่ายต่างๆ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง