คัดลอก URL แล้ว
จับตา Credit Suisse ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิสฯ ส่อแววไม่ดี หุ้นร่วงหนัก

จับตา Credit Suisse ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิสฯ ส่อแววไม่ดี หุ้นร่วงหนัก

KEY :

นักวิเคราะห์กำลังจับตาสถานการณ์ของธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจาก Credit Suisse กำลังเผชิญวิกฤติต่าง ๆ ที่รุนแรงที่สุดตลอด 167 ปีตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร และยังไม่มีวี่แววที่จะสามารถกอบกู้วิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ภายหลังจากธนาคาร Silicon Valley Bank ต้องล้มลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

หุ้นร่วงหนัก

หุ้นของ Credit Suisse ร่วงลงอย่างหนักและเข้าสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ ที่ 1.73 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น ภายหลังจากที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Saudi National Bank (SNB) ระบุว่า จะไม่เพิ่มการลงทุนให้กับ Credit Suisse

ซึ่ง SNB ได้เข้ามาถือหุ้นของ Credit Suisse จำนวน 9.9% เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยทาง Credit Suisse ได้ส่งหนังสือเชิญธนาคารชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อมาร่วมทุนมูลค่ากว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ ควบคู่กับแผนการปลดพนักงานจำนวน 9พันคนภายใน 3 ปี

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทด้านการลงทุนในสหรัฐฯ อย่าง Harris Associates เปิดเผยว่า ได้มีการเทขายหุ้นของ Credit Suisse ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากรู้สึกผิดหวังกับกลยุทธ์ของทางธนาคารที่ไม่สามารถหยุดยั้งการสูญเสียลูกค้าไปจากประเด็นอื้อฉาวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และธนาคารรายงานผลประกอบการขาดทุนสุทธิถึงกว่า 7.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดทุนที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นการขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008

โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารขาดทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ สูงว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการไว้ นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า ลูกค้าของธนาคารไหลออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ในปี 2023 นี้ Credit Suisse น่าจะยังคงเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่อง

เกิดอะไรขึ้นกับ Credit Suisse

Credit Suisse ส่อแววอาการไม่ดีในระยะหลังในหลายเรื่อง โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านทาง ธนาคาร Credit Suisse ได้แจ้งเลื่อนประกาศรายงานประจำปี 2565 ออกไป โดยระบุถึงประเด็นที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นด้านเทคนิคของการประเมินของการแก้ไขงบกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในสิ้นปี 2020 และ 2019

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หลายฝ่ายมองว่า เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและลูกค้า แม้ว่าทาง Credit Suisse จะระบุในแถลงการณ์ว่า รายงานผลกระกอบการในปี 2022 ที่เกิดขึ้นเมื่อ 9 ก.พ. 2022 ไม่กระทบก็ตาม

สถานการณ์ไม่ดี-อื้อฉาวต่อเนื่อง

ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของธนาคาร Credit Suisse ไม่ค่อยสู้ดีนัก ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2021 ธนาคารได้รายงานระบุว่า มีสินทรัพย์ 1.6 ล้านล้านฟรังก์ และมีลูกจ้าง-พนักงานมากกว่า 5 หมื่นคนที่ทำงานให้กับธนาคาร

ในขณะที่เดือนมี.ค. 2021 หน่วยบริหารสินทรัพย์ของ Credit Suisse ต้องสูญเงินในกองทุนการเงิน มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในกับ Greensill Capital และถูกยื่นฟ้องล้มละลาย ก่อนที่จะมีมีข่าวการที่จะต้องสูญเงินอีก 5 พันล้านดอลลาร์จากดีลที่เกิดขึ้นกับ Archegos Capital Management ส่งผลให้ราคาหุ้นในช่วงนั้นตกลงถึง 30%

ในขณะที่เดือนก.พ. 2022 ข้อมูลลูกค้าจำนวนกว่า 3 หมื่นรายของ Credit Suisse รั่วไหลออกมา และกลายเป็นรายงานอื้อฉาว หลังจากที่พบว่า ทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นของลูกค้าที่หาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ การฟอกเงิน การทุจริต รวมถึงอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ อีกเพียบ

รายงานของ The Guardian ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของธนาคารและสร้างความกังวลให้กับนักลุงทุนจำนวนมาก แม้ว่าทาง Credit Suisse จะปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้นก็ตาม

ก่อนที่ในเดือนมิถุนายน 2022 ศาลอาญาของสวิตเซอร์แลนด์ได้ตัดสินว่า Credit Suisse ล้มเหลวในการป้องกันการฟอกเงินของแก๊งค้ายาของบัลเกเรีย

ตามมาด้วยเดือนตุลาคม 2022 ธนาคาร Credit Suisse ได้ตกลงยอมความและต้องเสียเงินราว 256 ล้านดอลลาร์ ในคดีความเกี่ยวกับการฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี ในช่วงปี 2005 – 2012 กับฝรั่งเศส

ปัญหาเปลี่ยนตัวผู้บริหาร

ในช่วงปี 2019 – 2022 นั้น ธนาคาร Credit Suisse มีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงหลายครั้ง โดยในช่วงปี 2019 Pierre-Olivier Bouée ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ถูกระบุว่า ได้จ้างนักสืบเอกชนเพื่อติดตามและสอดส่องพนักงานระดับสูงภายในบริษัท ก่อนที่จะถูกไล่ออกในเวลาต่อมา แต่หลังจากนั้นไม่นาน นักสืบเอกชนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ถูกพบว่า “ฆ่าตัวตายอย่างลึกลับ” และประกาศดังกล่าวก็หายไป

ในขณะที่ปี 2020 นาย Tidjane Thiam ซึ่งเป็น CEO ก็มีประเด็นอื้อฉาวอีกครั้ง หลังพบว่า มีการจ้างนักสืบเอกชนติดตามอดีตผู้บริหารที่ย้ายไปร่วมงานกับสถาบันการเงินแห่งอื่น แม้ว่าจะปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่ปัญหาอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้ต้องออกจากตำแหน่งในที่สุด

ม.ค. 2022 นาย Antonio Horta-Osorio ที่เข้ามารับตำแหน่งประธานฯ ได้เพียง 9 เดือน ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังมีประเด็นอื้อฉาว เรื่องการละเมิดกฎการกักตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19

ในขณะที่ นาย Axel Lehmann ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อ ก็กำลังเผชิญปัญหาการถูกสอบสวนโดย หน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิส (Swiss Financial Market Supervisory Authority : FINMA) ภายหลังจากที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ บลูมเบิร์ก ว่า การไหลออกของลูกค้าที่เกิดขึ้นนั้นได้หยุดลงแล้ว และส่งผลให้มูลค่าหุ้นของ Credit Suisse เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

แต่ในรายงานที่เปิดเผยออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลับพบว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 นั้นเกิดขึ้นเกือบ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ โดย FINMA มองว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเจตนาให้นักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง