เมื่อเอ่ยถึงการ บูชา “ท้าวเวสสุวรรณ” หลายคนจะนึกถึงที่ วัดจุฬามณี เป็นที่แรก ๆ เพราะตำนาน การสร้าง ท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณีนั้นแตกต่างจากที่อื่น อีกทั้ง โด่งดังในเรื่องใครขอโชคขอลาภขออะไรก็จะสมหวังมาตั้งแต่สมัยพระครูโกวิทสมุทรคุณ หรือหลวงพ่อเนื่อง โกวิทโท อดีตเจ้าอาวาสเกจิชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งนอกจากเชื่อกันว่าให้หวยแม่นแล้ว ยังใช้ใบมะนาวรักษาโรคต่าง ๆ จนเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพระครูโสภิตวิริยาภรณ์ หรืออาจารย์อิฏฐ์ ซึ่งก็เป็นศิษย์หลวงพ่อเนื่อง เป็นเจ้าอาวาส และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวา อีกด้วย
หากใครที่เคยไปอาจจะคุ้นเคยกับรูปปั้น “ท้าวเวสสุวรรณ” หน้ายักษ์ ของวัด จากสื่อต่าง ๆ จนคุ้นตา แต่รู้ไหมว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” แห่งวัดจุฬามณี มีทั้งหมด 4 ปาง ซึ่ง “เทวสุวรรณพรหมมาสูติเทพ” ปูนปั้นสีขาวองค์นี้ ถือเป็นหนึ่งในสี่ภาคของท้าวเวสสุวรรณ และเป็นองค์แรกของวัดจุฬามณี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 จากนิมิตของหลวงพ่ออิฏฐ์ ที่ฝันว่าท้าวเวสสุวรรณขอให้สร้างท่านไว้ที่วัด โดยในฝันยังบอกลักษณะท่าทาง และชื่อของคนที่ท่านต้องการให้ปั้น คือ ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ วัดมหาธาตุ เพชรบุรี เมื่อไปค้นหาก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจเพราะช่างทองร่วง เอมโอษฐ์มีตัวตนจริงๆ แถมยังเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น) พุทธศักราช 2554 ด้วย
ประวัติความเป็นมาของ ‘วัดจุฬามณี’
วัดจุฬามณีเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปีของ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากคนไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปไหว้สักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด เพื่อขอพรเรื่องต่าง ๆ ตามความเชื่อส่วนบุคคล สันนิษฐานว่า “วัดจุฬามณี” สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดแม่เจ้าทิพย์” หรือ “วัดแม่ย่าเจ้าทิพย์” โดยเป็นการเรียกตามชื่อของท่านทิพย์ ซึ่งเป็นชื่อของผู้อุปถัมภ์และปฏิสังขรณ์วัดในช่วงเวลานั้น
สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2172–2190 ผู้สร้างคือ ท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาของท่านพลาย นายตลาดบางช้างผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีอากร ซึ่งต่อมาเป็นต้นราชนิกุลบางช้าง ในอดีตวัดจุฬามณีเคยเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยและภาษาขอม แต่ภายหลังการมรณภาพของเจ้าอาวาส “ท่านพระอธิการเนียม” ใน พ.ศ. 2459 วัดแห่งนี้ก็มีพระจำพรรษาไม่กี่รูป สภาพวัดค่อนข้างร้างและเสื่อมโทรม
จนกระทั่งกำนันบางช้าง ได้ขออาราธนา “พระอาจารย์แช่ม โสฬส” ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางกะพ้อม ต.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดจุฬามณี โดยมีการบูรณะวัด ปรับปรุงไม่ให้เสื่อมโทรม พร้อมทั้งปลูกสร้างศาลาการเปรียญแห่งใหม่ ทำให้วัดจุฬามณีกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
คนนิยมกราบไหว้สักการะขอพร ตามจุดที่วัดเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปไหว้สักการะหลายจุดด้วยกัน ได้แก่ สังขารหลวงพ่อเนื่อง โกวิท : ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง ลูกศิษย์ของหลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ที่แม้จะมรณภาพไปแล้ว แต่สังขารไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันสังขารถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วบนศาลาการเปรียญของวัดจุฬามณี มีผู้คนไปกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก
วิธีบูชา “ท้าวเวสสุวรรณ”
ท้าวเวสสุวรรณ : เชื่อว่าท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพแห่งอสูรที่คอยปกปักรักษาโลกมนุษย์ และคุ้มครองให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง สำหรับรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณที่ตั้งอยู่ภายในวัดจุฬามณี มีทั้งหมด 4 ปาง ดังนี้ – ปางจาตุมมหาราช รูปกายสีเขียว-ดำ เชื่อว่าช่วยอำนวยพรคุ้มครองชีวิตจากสิ่งชั่วร้าย- ปางพรหมาสูติเทพ รูปกายสีทอง เชื่อว่าช่วยอำนวยพรเรื่องโชคลาภและเงินทอง- ปางเทพบุตรสูติเทพ รูปกายสีทอง เชื่อว่าช่วยอำนวยพรให้พบแต่ความสมปรารถนา ชีวิต และคู่ครอง- ปางมนุษย์ รูปกายมนุษย์ เชื่อว่าช่วยอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต คิดทำสิ่งใดก็ราบรื่น
โดยวิธีบูชา “ท้าวเวสสุวรรณ” แนะนำให้จุดธูป 9 ดอก และถวายดอกกุหลาบ 9 ดอก ก่อนสวดให้ตั้งจิตอธิษฐานระลึกถึงพระคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คาถาบูชา “ท้าวเวสสุวรรณ” อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ
วัดเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ตั้งอยู่ที่คลองวัดจุฬามณี หมู่ที่ 9 ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ห่างจากตัว อ.อัมพวาประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 35 บางแพ-สมุทรสาคร หรือหากเดินทางจากแม่กลอง ให้ใช้ถนนแม่กลอง-บางแพ จะมีป้ายวัดจุฬามณีให้สังเกตตลอดเส้นทาง
ข้อมูล – สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม / ภาพ – วิชาญโพธิ