KEY :
- ชาวฝรั่งเศสจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนในหลายเมืองใหญ่ออกมาร่วมกันประท้วงคัดค้านการแก้ไขระบบบำนาญฉบับใหม่
- โดยระบบบำนาญฉบับใหม่นี้ มีการขยายระยะเวลาเกษียณอายุจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ซึ่งหมายถึงเพิ่มระยะเวลาที่จะต้องทำงานในระบบบำนาญเป็นเวลา 43 ปี จึงจะได้บำนาญครบเต็มจำนวน
- ด้านรัฐบาลของนายมาครงระบุว่า การขยายช่วงเวลานี้จะช่วยเพิ่มเงินในระบบบำนาญได้กว่า 1.7 หมื่นล้านต่อปี และลดการขาดดุลได้
- ส่วนทางด้านของสหภาพแรงงานระบุว่า ระบบใหม่นี้ไม่ยุติธรรม และมีแนวทางอื่นที่แก้ไขปัญหาได้
…
ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากในหลายเมืองทั่วประเทศได้ออกมารวมตัวประท้วงคัดค้านระบบบำนาญฉบับใหม่ ที่มีการปรับช่วงอายุของวัยแรงงานให้ยาวนานขึ้น โดยที่ผ่านมา โอลิเวียร์ ดัสซอปต์ รัฐมนตรีแรงงานของฝรั่งเศส ได้ระบุว่า จะมีการเพิ่มอายุการเกษียณออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่ที่ 62 ปี เป็น 64 ปี ซึ่งการขยายช่วงเวลานี้จะช่วยให้การจ่ายเงินเดือนเพื่อสมทบในระบบบำนาญเพิ่มสูงขึ้น 1.77 หมื่นล้านยูโรต่อปี และสามารถชดเชยการขาดดุลได้ภายในปี 2027 ทำให้ระยะเวลาที่ประชาชนต้องทำงานในระบบเป็นเวลา 43 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 42 ปี จึงจะมีโอกาสที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน
แต่จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก โดยสหภาพแรงงานหลายแห่งระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ไม่ถูกต้อง และยังคงมีแนวทางอื่น ๆ ในการหารายได้อุดหนุนการขาดดุลในงบบำนาญเหล่านี้ เช่นการเก็บภาษีเงินบำนาญในกลุ่มคนรวย การเพิ่มเงินสมทบของนายจ้าง เป็นต้น
ซึ่งความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สหภาพแรงงานหลายแห่งได้ประกาศนัดหยุดงานประท้วงจำนวน เช่น สหภาพแรงงานรถไฟ สหภาพแรงงานไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้มีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบไม่สามารถเดินทางไปทำงานจากการที่รถไฟหลายสายไม่เปิดให้บริการ และจำนวนไม่น้อยก็เปลี่ยนไปเข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวด้วย เนื่องจากเห็นว่า มาตรการใหม่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีการนัดหยุดงานนั้น ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศสได้รับผลกระทบ และจำเป็นต้องนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศอื่น ๆ มาชดเชย ส่วนสหภาพแรงงานน้ำมัน เตรียมที่จะนัดหยุดงานประท้วงเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ การประท้วงหยุดงานยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษด้วย เนื่องจากการหยุดให้บริการของท่าเรือ ด้านกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสระบุว่า มีบุคลากรด้านการศึกษากว่า 1 ใน 3 ได้นัดหยุดงานและเข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้
…
มาครงเผชิญแรงกดดันครั้งใหญ่
ในช่วงที่ผ่านมา ฝรั่งเศสประสบปัญหาหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูง อัตราค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ในยูเครน ที่รัสเซียเปิดฉากการโจมตีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และนำไปสู่การคว่ำบาตรสินค้า และพลังงานจากรัสเซีย
ซึ่งสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กลายเป็นปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการปรับนโยบายเกี่ยวกับการเกษียณอายุของชาวฝรั่งเศสในครั้งนี้ จึงทำให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสออกมาร่วมประท้วงกันเป็นจำนวนมาก
และสถานการณ์ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ โดยประธานสหภาพแรงงานต่าง ๆ ระบุว่า ประชาชนไม่พอใจในมาตรการใหม่นี้อย่างมาก และการปฏิรูปที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมต่อแรงงานที่ทำงานมาอย่างยาวนาน
โดยมีรายงานการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด โดยมีการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้แก๊สน้ำตา และเข้าควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้อย่างน้อย 20 คน ภายหลังถูกระบุว่า ได้ก่อเหตุความรุนแรง ทำลายข้าวของ รวมถึงขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทางด้านของเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นนี้ หวังว่า จะไม่มีความรุนแรง การทำลายข้าวของต่าง ๆ จนมากเกินไป และยืนยันว่า การปฏิรูปที่เกิดขึ้นนี้ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการอนุมัติอย่างถูกต้องแล้ว
…
นัดประท้วงใหญ่ 31 ม.ค. นี้
ทางด้านของกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสระบุว่า มีผู้ออกมาร่วมประท้วงราว 1.2 ล้านคนทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่า มีผู้ร่วมประท้วงราว 2 ล้านคน เฉพาะในปารีสมีจำนวนมากกว่า 4 แสนคน ซึ่งมากกว่าการประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้
และในขณะนี้ ผู้นำสหภาพแรงงานฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. นี้ เพื่อออกมาร่วมกันคัดค้านแผนการขยายช่วงอายุการเกษียณ โดยการปรับเวลาการเกษียณอายุของฝรั่งเศสเคยเกิดขึ้นเมื่อราว 12 ปีก่อน หลังจากการขยายช่วงอายุจาก 60 ปี เป็น 62 ปี และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่เช่นกัน
นอกจากนี้ การขยายช่วงอายุของการทำงานในระบบจาก 42 เป็น 43 ปีนั้นก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่า การเพิ่มขึ้นของระยะเวลาการทำงานและการเกษียณอายุ ไม่ต่างอะไรกับการที่กำลังเข้าใกล้การทำงานกันไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ
การปฏิรูปที่เกิดขึ้นไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ยิ่งทำให้แรงงานชั้นล่าง คนยากจนต้องทำงานหนักเป็นเวลานาน เพื่อให้ได้มาซึ่งบำนาญ ในขณะที่คนรวยก็ยังคงสบายเช่นเดิม และไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ผู้ชุมนุมบางส่วนระบุว่า สำหรับการทำงานในบางประเภทที่ต้องใช้แรง การที่จะเพิ่มอายุของการเกษียณ หรือการทำงานเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก และไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด