KEY :
- ข้อกังวลจากหลาย ๆ ฝ่าย จากกรณีเกิด ‘สุญญากาศ’ ในการควบคุม หรือ กฎหมายลูก ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในระหว่างรอการพิจารณาในวาระ 2-3
- ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เรียกร้องให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเสียก่อน เพื่อปิดสุญญากาศนี้และพิจารณาข้อกฎหมายให้ใช้ชัดเจนและรัดกุมมากกว่านี้
- อนุทิน’ ย้ำรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายกัญชาเสรี แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์
ผ่านมาแล้วกว่า 5 เดือนแล้ว กับการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ยังถูกถกเถียงกันอย่างมากทั้งฝั่งภาคประชาชน และฝั่งการเมือง ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งมีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะทางฝั่งการเมือง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยที่ชูนโยบายนี้ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งปี 2562 กระทั่งได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนผลักดันนโยบายกัญชามาจนถึง ณ ปัจจุบันนี้
ด้วยข้อกังวลจากหลาย ๆ ฝ่าย จากกรณีเกิด ‘สุญญากาศ’ ในการควบคุม หรือ กฎหมายลูก ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในระหว่างรอการพิจารณาในวาระ 2-3 ซึ่งหากถูกโหวตคว่ำอีกในช่วงการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มมีการประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อที่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็จะยิ่งทำให้กฎหมายกัญชาเกิด ‘สุญญากาศ’ ลากยาวไปอีก
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ และมุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาหลังปลดล็อกแล้วกลับมีข่าวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ทั้งพบเยาวชนใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือ ในทางการแพทย์พบเคสผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้น ซึ่งในกรณีที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชน ที่มีแนวโน้มว่าจะหันมาใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะข้อกฎหมายบางส่วนที่บังคับใช้แล้วก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์’ กับประเด็นกัญชา
หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 15 ก.ย.65 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกจากระเบียบวาระการประชุมด้วยมติ 198 เสียงต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ด้วยข้อกังวลจากทั้งฝั่งของพรรคร่วมอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่มีข้อกังวลของข้อกฎหมายในการป้องกันเยาวชนที่ยังไม่ครอบคลุมและชัดเจน
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า หลังจากมีการประกาศปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่า มีการใช้เพื่อสันธนาการอย่างแพร่หลาย ทั้งเปิดร้าน ตั้งร้านริมทาง ขายกันอย่างเสรี ซึ่งทำให้เข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งข้อกฎหมายที่ทางพรรคภูมิใจไทยได้เสนอต่อที่สภานั้นยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร
จนนำไปสู่การเรียกร้องให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเสียก่อน เพื่อปิดสุญญากาศนี้และพิจารณาข้อกฎหมายให้ใช้ชัดเจนและรัดกุมมากกว่านี้ ซึ่งหากยังปล่อยให้เป็นสุญญากาศเช่นนี้ จะทำให้กัญชาเสรีไปอย่างสุดโต่ง ไม่ได้มุ่งเน้นทางการแพทย์อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งกฎหมายที่ออกมาในขณะนี้ยังเอื้อไปถึงกลุ่มนายทุนใหญ่มากกว่าการส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างอาชีพสร้างรายได้
‘อนุทิน’ ย้ำรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายกัญชาเสรี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายกัญชาเสรี แต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์ เพื่อ 1.อุตสาหกรรมทางการแพทย์ 2.ผลิตภัณฑ์อื่น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และรายได้ให้ประชาชนโดยมี 3 กลไกที่รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม ด้วยกฎหมาย
โดยสิ่งที่กำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในขณะนี้ คือ การออกกฎหมาย เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม และไม่ให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรี การที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะทางฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลในการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น จะยิ่งทำให้กัญชาเกิดสุญญากาศมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ยังยืนยันว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ แต่คนที่นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดนั้น จึงต้องมีกฎหมายออกมารองรับ ไม่ใช่จะยัดกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก และใช้กฎหมายยาเสพติดแทนเช่นอดีตที่ผ่านมา สุดท้ายผลเสียก็ตกไปอยู่กับ ชาวบ้าน ผู้ประกอบการที่ลงทุนปลูกตั้งโรงงาน ผลิตสินค้า หรือ กลุ่มผู้ลงทุนต่าง ๆ
เมื่อเสียงจากภาคประชาชนเห็นต่างกรณี ‘กัญชา’
ประเด็นกัญชายังมีข้อถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่ในสภาหรือทางฝั่งการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคประชาชน หรือ แม้กระทั่งกลุ่มแพทย์ ที่ต่างออกมาเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับ ‘กัญชา’
ซึ่งกลุ่มเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด(YNAC) ได้รวมรายชื่อถึงประมาณ 15,000 กว่าคน ที่เป็นเยาวชน ผุ้ปกครอง และครู ซึ่งต้องการให้เอากัญชากลับไปอยู่ตามกฎหมายยาเสพติด โดยการเพิกถอนประกาศกระทรวงฯ และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. กัญชากัญชง ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ที่ทำขึ้นเพื่อใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยแก้ไขให้มีการควบคุมกัญชาให้มากกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ และหากไม่ได้แก้ไขก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดค้าน พ.ร.บ.
ขณะที่ทางฝั่งสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนอีกกว่า 5,000 ชื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อขอให้คงไว้ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษ
พร้อมเร่งรัดให้มีการออก พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อบังคับใช้ โดยมุ่งเน้นใช้ทางการแพพย์ และครอบคลุมในการป้องกันถึงผลกระทบทางสังคม
ศาลปกครอง รับฟ้องเพิกถอนประกาศ ‘ปลดล็อกกัญชา’
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยื่นฟ้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ถอดกัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่นเดิมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2563
พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการทุเลาการบังคับ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีด้วย
โดยล่าสุดมีรายงานว่าทางศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายดำที่ 2417/65 และอธิบดีศาลปกครองกลางได้มีการจ่ายสำนวนให้องค์คณะและแต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดีแล้ว ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาคดี
‘วิษณุ’ ยืนยันไม่นำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 4/2565 ซึ่งมีการหารือร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องควบคุมการใช้กัญชา ว่า ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาประเด็นที่จะนำกัญชากลับเข้ามาเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5
โดยในระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จำเป็นต้องมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 20 ฉบับออกมาใช้เพื่ออุดช่องว่างในระหว่างรอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ
ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็น 1 ใน 20 ฉบับ โดยจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 และจะมีผลบังคับในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565
สธ.ระดมสถาบันเชี่ยวชาญกรมการแพทย์ ลุยวิจัย “กัญชาทางการแพทย์” ปี 2566
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมโลกมีการนำกัญชามาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเทศไทยเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ และเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมให้นำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและเข้าถึงยากัญชาอย่างมีคุณภาพ
โดยดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูกการผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการ ถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่นๆให้ครอบคลุม ส่วนศึกษาวิจัยจะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
โดยในปี 2566 กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการรักษาโรค เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในหลายเรื่อง ได้แก่ กัญชาทางการแพทย์กับการรักษาโรคลมชักในเด็กโรคพากินสัน โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกัญชาทางการแพทย์กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและการวิจัยในหนูทดลอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และการวิจัยนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้นมาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต เพื่อช่วยลดอาการทางจิต และลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง
โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งได้ความร่วมมือของภาคเอกชนการนำกัญชาทางการแพทย์รักษา โรคผิวหนังและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เปิด “ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา”
ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison)สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา 11 ชนิด และสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenesในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ทั้งหมดนี้เพื่อให้กัญชาทางการแพทย์ได้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพประชาชน