คัดลอก URL แล้ว
อีก 90 วันมีผล “ฉีดยาลดฮอร์โมนเพศ” ตามพ.ร.บ.ป้องกันทำผิดซ้ำคดีทางเพศ/ใช้ความรุนแรง

อีก 90 วันมีผล “ฉีดยาลดฮอร์โมนเพศ” ตามพ.ร.บ.ป้องกันทำผิดซ้ำคดีทางเพศ/ใช้ความรุนแรง

KEY :

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว

ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือต้ารวจบ้าง แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระท้าความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งยังมีแนวโน้มที่จะกระท้าความผิดในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระท้าความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

กฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง อาทิ

  1. กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
    คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิด ให้คำปรึกษาแลข้อเสนอแนะ และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น

  1. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
    เช่น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง

  1. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
    หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น

  1. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
    ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดได้

  1. การคุมขังฉุกเฉิน
    กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิดและมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล รวมถึงกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระท้าความผิดตามที่กำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย

มาตรการฉีดยาลดฮอร์โมน

ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ระบุถึงกรณีในการใช้มาตรการทางการแพทย์ ต่อผู้กระทำความผิดทางเพศซ้ำ หรือที่เรียกกันว่า การฉีดยาลดฮอร์โมนให้ไข่ฝ่อ โดยระบุไว้ในมาตราที่ 22 (10) ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด

ซึ่งในการฉีดยานั้น จะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านจิตเวชศาสตร์ และสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คนลงความเห็นว่า มีความจำเป็นในการใช้ยา หรือวิธีการในรูปแบบอื่น ๆ และจะกระทำได้เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น


ข้อมูล – http://ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/066/T_0006.PDF


ข่าวที่เกี่ยวข้อง