KEY :
- ทาง ปปง. ได้ออกข้อบังคับ การฝากเงินผ่านเครื่อง CDM/ADM ซึ่งต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตทุกครั้ง โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565
- โดยระบุว่าเป็นการป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งที่ผ่านมาการฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติ ยังไม่มีการยืนยันตัวตน จึงทำให้ขบวนการยาเสพติดใช้ช่องทางนี้ในการฟอกเงินได้
- ทางธนาคารแห่งประเทศได้ประสานไปยังธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เร่งพัฒนาระบบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถยืนยันตัวตนผ่านรูปแบบอื่นได้ ทั้งการใช้บัตรประชาชน
กลายเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงอย่างมาก สำหรับกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้เตรียมออกข้อบังคับ ให้ธนาคารปรับขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM/ADM ซึ่งต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตทุกครั้ง โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
กระแสดังกล่าวถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้าง ทั้งในมุมของผู้ใช้งาน ที่มองว่าการออกกฎข้อบังคับดังกล่าวนั้น เป็นการผลักภาระสู่ผู้บริการหรือไม่ เนื่องจากในยุคปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีการฝากเงินตามตู้ CDM/ADM ของธนาคารต่าง ๆ มีการให้บริการฝากเงินแบบไม่ต้องใช้บัตร เพียงกดเลขบัญชีที่ต้องการฝาก และใส่เงินตามจำนวนที่ต้องการ เท่านี้ก็สามารถฝากเงินได้แล้ว
ซึ่งวิธีการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM/ADM ในมุมของผู้ใช้บริการ ยังส่งผลดีทำให้ลดความแออัดในการเข้าไปใช้บริการในธนาคาร ลดขั้นตอนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี หากมองในมุมนี้ก็เหมือนจะดีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการ และ ผู้ใช้บริการ
เพราะเหตุใดถึงมีการออกกฎข้อบังคับนี้ออกมา?
ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้ชี้แจงว่า มาตรการในการแสดงตัวตนดังกล่าวนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ 2542 มาตรา 20 ประกอบกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ 2563 ซึ่งเป็นหลักการเดิม ตามกฎกระทรวงตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ 2559 ที่ถูกยกเลิกไป
เนื่องจากในปัจจุบันมีองค์กรอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด และการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ได้ใช้ช่องทางการฝากเงินสดผ่านธนาคารทางตู้รับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM/ADM)ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินสดโดยไม่ต้องแสดงตัวตนในการทำธุรกรรม
เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามบุคคลผู้ทำธุรกรรมเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมดังกล่าว
เร่งหารือเพื่อไม่ให้มาตรการดังกล่าว ไปเพิ่มภาระแก่ประชาชน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นในมุมของผู้ใช้งานนั้นหากกฎข้อบังคับมีการบังคับใช้จริง ย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นประชาชนที่ผู้ใช้งานจริง และอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หากจำเป็นต้องไปใช้บริการในการฝากเงินผ่านตู้ และเป็นผู้ใช้งานที่ไม่มีบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต ก็ต้องจำเป็นไปสมัครเพื่อเปิดบัตร และเสียค่าธรรมเนียม
โดยบัตรเหล่านี้ส่วนใหญ่ธนาคารจะมีการเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นรายปีอยู่แล้ว ในส่วนนี้ในมุมของผู้ใช้งานจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม
อย่างไรก็ตามทางสำนักงาน ปปง. ได้หารือเบื้องต้นกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการข้างต้น โดยมีหลักการว่า ต้องไม่สร้างภาระแก่ประชาชนมากจนเกินสมควร ต้องมีวิธีอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการ ให้สามารถแสดงตนได้หลายรูปแบบโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ขณะนี้ยังเป็นเพียงทางเลือกที่สามารถแสดงตนก่อนทำธุรกรรมได้ และจะกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไปในอนาคต
‘แบงก์ชาติ’ แจงยังมีช่องทางอื่นที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้
ทางด้านนางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ใช้งาน
โดยระบุว่าการยืนยันตัวตนของทำรายการฝากเงินเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นโดยธนาคารให้มีการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง CDM ของแต่ละธนาคารแต่สำหรับประชาชนที่ไม่มีบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตทำให้ไม่สามารถฝากเงินที่เครื่อง CDM ได้แต่ยังคงสามารถฝากเงินโดยใช้บัตรประชาชนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากฝากที่สาขาได้อาทิตู้เติมเงินเคาน์เตอร์เซอร์วิสของร้านสะดวกซื้อไปรษณีย์และตัวแทนรับฝากเงินอื่นของธนาคาร
ซึ่งหลังจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเร่งประสานไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถดูรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่นๆเช่นการใช้บัตรประชาชนหรือการยืนยันตัวตนในลักษณะ Cardless ผู้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่ม
เทคโนโลยีใหม่มา พฤติกรรมผู้ใช้บริการก็ย่อมเปลี่ยน
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความทันสมัยของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ทำให้คนเราไม่จำเป็นต้องถือเงินสด หรือ ถือเงินสดน้อยลง ด้วยการเข้ามาของสมาร์ทโฟน การพัฒนาแอปพลิเคชั่นของบรรดาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ต้องแข่งขันสร้างฐานลูกค้า
เป็นสิ่งหนึ่งที่พฤติกรรมของผู้ใช้บริการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดในครั้งที่ผ่านมานั้น ยิ่งทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทั้งโอนจ่ายง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว หรือ การฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินสดต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยตัวเลขการการถือบัตรเดบิตในระบบ ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีจำนวนประมาณ 65 ล้านใบ แต่ปริมาณบัตรเดบิตเริ่มมีการใช้งานลดลงตามลำดับ ทั้งในปี 2564 และในปัจจุบันปี 2565 บัตรเดบิตในระบบมีตัวเลขที่อยู่ในระบบ 63 ล้านใบ
ซึ่งจะทำบัตรใหม่ทั้งเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ก็ต้องเสียค่าแรกเข้าขั้นต่ำอีก 100 บาท และยังไม่นับรวมค่าธรรมเนียมรายปีที่เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 200-300 บาท หรือ มากกว่านั้นตามประเภทบัตรที่ผู้ใช้บริการประสงค์อยากจะออกบัตรนั้น ๆ
ข้อมูล :
- สำนักงาน ปปง.
- ธนาคารแห่งประเทศไทย