KEY :
- อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร เดือนกันยายน อยู่ที่ 10.1% เด้งกลับมาอยู่ที่ระดับเกิน 10% อีกครั้ง หลังจากที่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลดลงมาอยู่ที่ 9.9%
- โดยตัวเลขดังกล่าว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันไว้คือ 10% อีกด้วย
- หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่ความผิดพลาดในนโยบายทางการเงินภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ นายกฯ ที่ล้มเหลว
…
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ของสหราชอาณาจักร รายงานสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน อยู่ที่ 10.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เด้งกลับมาสูงเกิน 10% อีกครั้ง หลังจากที่ในเดือนสิงหาคม 2565 ได้ลดลงไปอยู่ที่ 9.9% จากระดับ 10.1% ในเดือนกรกฎาคม 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันไว้ที่ 10% อีกด้วย
โดยอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ราคาพลังงานในสหราชอาณาจักรมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหาร และต้นทุนการขนส่งที่มีเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้ง
ซึ่งราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น 14.5% ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 10.9% นอกจากนี้ ราคาเฟอร์นิเจอร์และสินค้าภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10.8%
ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากมาจากทั้งราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและวัตถุดิบที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช แป้ง เนย ไข่ ซีเรียล เนื้อสัตว์ นมและชีส รวมถึงน้ำมันพืชต่าง ๆ ส่งผลให้ร้านอาหารจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านเบเกอรี่ ที่จะได้รับผลกระทบจากค่าก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และทางร้านก็จำเป็นจะต้องใช้ความร้อนในการทำขนมปังเป็นระยะเวลานานอีกด้วย
ในขณะที่เมื่อราคาอาหารเพิ่มขึ้น ผู้คนก็ลดการซื้อหาลง เพื่อออมเงินสำหรับนำไว้จ่ายค่าพลังงาน และดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือค่าพลังงานครัวเรือนละ 2,500 ปอนด์
ทำให้ในขณะนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบถึงการจับจ่ายในช่วงวันคริสมาสต์อีฟที่น่าจะลดลง
หลายฝ่ายมุ่งเป้าที่ “ลิซ ทรัสส์“
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านนั้น กระแสต่างมุ่งเป้าไปที่ ลิซ ทรัสส์ นายกฯ ของสหราชอาณาจักร เนื่องจากท่าทีและการปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรต้องพบกับความปั่นป่วนในหลายอย่างด้วยกัน
นอกจากนี้ การสั่งปลด ควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีคลัง และแต่งตั้ง เจเรมี ฮันท์ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเพียงเวลาไม่กี่เดือนที่ ลิซ ทรัสส์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ
ส่งผลให้กระแสความไม่พอใจเพิ่มสูงขึ้น และหลายฝ่ายต่างเริ่มส่งเสียงให้เธอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าในขณะนี้
ซึ่งทำให้ ลิซ ทรัสส์ ไ้ดกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แต่ความปั่นป่วนจากนโยบายต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบแล้ว
ที่มา – https://www.ons.gov.uk/economy/inflationandpriceindices/bulletins/consumerpriceinflation/september2022