KEY :
- นักวิจัยไทย พัฒนาทรายแมวที่ทำจากมันสำปะหลัง
- ระบุ เนื่องจากทรายแมวส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนมันสำปะหลังมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ
- ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังที่มีราคาตกต่ำได้อีกด้วย
- เตรียมพัฒนาต่อยอด ให้สามารถระบุโรคบางอย่างได้อีกด้วย
…
‘ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง’ นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการพลิกพืชผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำ เช่น มันสำปะหลัง ให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงขึ้นด้วยการแปรรูปเป็น “ทรายแมว” ของต้องมีและต้องใช้สำหรับเจ้าแมวเหมียวทั้งหลาย
ด้วยมีประสิทธิภาพดูดซับของเหลวและกลิ่นปัสสาวะแมวได้ดี แถมย่อยสลายได้ในธรรมชาติ อีกทั้งยังปลอดภัยกับแมวและผู้เลี้ยง โดยขั้นต่อไปเตรียมต่อยอดเป็นทรายแมวบ่งชี้โรคอีกด้วย
จุดเริ่มต้นในการพัฒนาทรายแมวจากมันสำปะหลัง ภายใต้ชี่อการค้า “ไฮด์แอนด์ซีค” นั้น ด้วยความที่เป็นคนชอบเลี้ยงแมวและใช้ผลิตภัณฑ์ทรายแมวมากว่า 10 ปี สังเกตเห็นว่าทรายแมวในท้องตลาดเกือบ 100% นำเข้าจากต่างประเทศ จึงสงสัยว่าเพราะเหตุใดบ้านเราถึงไม่มีการผลิตทรายแมวใช้เอง
จึงเริ่มมองหาวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรของไทย ว่ามีอะไรบ้างที่น่าจะนำมาทำเป็นทรายแมวได้ เช่น แกลบ ชานอ้อย จนมาลงตัวที่มันสำปะหลัง
“มันสำปะหลังมีคุณสมบัติด้านความเหนียวเมื่อโดนน้ำ ซึ่งตรงกับลักษณะการใช้งานของทรายแมว ที่ต้องมีคุณสมบัติในการดูดซับของเหลว และจับตัวเป็นก้อนได้เร็ว และด้วยเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ จึงสามารถกำจัดโดยทิ้งลงชักโครกได้เลย” ดร.ลัญจกร กล่าว
สำหรับกระบวนการผลิตเริ่มจากการนำมันสำปะหลังทั้งหัว มาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้แห้งก่อนบดเป็นผง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ด้วยการใช้ความร้อนและความดันที่เหมาะสม จนได้ทรายแมวอัดรูปเม็ดเล็กละเอียด ข้อดีของการใช้มันสำปะหลังคือเป็นวัตถุดิบที่มาจากพืช ทำให้สามารถปลูกทดแทนขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากทรายแมวที่ใช้แร่หินเบนโทไนท์ ซึ่งได้จากการระเบิดภูเขา เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ดร.ลัญจกร บอกด้วยว่า ปัจจุบันกำลังต่อยอดผลิตภัณฑ์ทรายแมว ให้สามารถบ่งชี้สุขภาพน้องแมวได้ในเบื้องต้น ช่วยเฝ้าระวังโรคของแมวได้ ให้เจ้าของสามารถเห็นความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนจะป่วยหนัก จะได้พาน้องแมวไปรับการรักษาได้ทันท่วงที
โดยผลิตภัณฑ์ทรายแมวที่กำลังวิจัยนี้ สามารถตรวจวัดค่า pH และปริมาณกลูโคสในปัสสาวะแมว และแสดงผลด้วยการเปลี่ยนสี บ่งบอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น โรคไต การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และโรคเบาหวาน