KEY :
- กลุ่มบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ยี่ห้อดัง ได้ทวงถามถึงกรมการค้าภายใน ในการขอปรับขึ้นราคาเป็นซองละ 8 บาท
- ปัจจัยที่ทำให้ต้องปรับขึ้นราคา เนื่องมาจากผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ แป้งสาลี และ น้ำมันปาล์ม
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการปรับราคาครั้งราคาสุดเมื่อปี 2551 จากซองละ 5 บาท เป็น 6 บาท
- การปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม
‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ หรือที่คนไทยเราชอบพูดติดปากว่า ‘มาม่า’ เป็นอาหารแห้ง ประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่คู่กับบ้านเรามากว่า 50 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาถูกเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ไปจนถึงระดับสูง วิธีการรับประทานก็แสนง่ายดาย เพียงแค่ฉีกซองใส่เครื่องปรุงและเทน้ำร้อน รอเพียง 3-5 นาที ก็ได้รับประทานแล้ว
ความนิยมในการรับประทาน ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ในบ้านเรานั้น เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้สิ้นเดือนที่เหมือนจะสิ้นใจของใครหลาย ๆ คน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยเซฟเงินในกระเป๋าช่วงยามขัดสนได้เป็นอย่างดี ด้วยราคาที่ย่อมเยาเริ่มต้นเพียงซองละ 6 บาท และมีรสชาติให้เลือกอีกหลากหลาย จึงเป็นอาหารที่เข้าถึงได้ง่ายของคนทุกระดับ
สำหรับวัตถุดิบหลักในการทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ ‘แป้งสาลี’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรและวิตถุดิบอาหารต่าง ๆ ซึ่งสอง 2 ประเทศที่กล่าวมานี้เป็นประเทศที่ส่งอออกข้าวสาลีไปทั่วโลกเฉลี่ย 25-30 % ประกอบกับการคว่ำบาตรรัสเซียจากประเทศฝั่งตะวันตก ทำให้ราคาสินค้าภาคการเกษตรและอาหารต่างมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
รวมไปถึงวิกฤตพลังงานอย่างน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนอย่างมาก แน่นอนว่าไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน การปรับตัวของราคาสินค้าทุกภาคส่วนย่อมส่งผลกระทบไปถึงผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน
5 แบรนด์ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ขอขึ้นราคาในรอบ 14 ปี
เมื่อไม่กี่วันมานี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาตร์สำหรับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ยี่ห้อดัง ประกอบไปด้วย บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทโชคชัยพิบูล จำกัด บริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บริษัทวันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และบริษัทนิสชินฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ร่วมจับมือเรียกร้องและทวงถามถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กรณีทำหนังสือขอขึ้นราคา ซึ่งล่าสุดได้เสนอขอปรับขึ้นราคาจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท โดยครั้งล่าสุดที่มีการปรับขึ้นราคาจาก 5 บาท เป็น 6 บาท คือช่วงปี 2551
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเรียกร้องให้ทางกรมการค้าภายใน อนุมัติการปรับขึ้นราคานั้น เป็นผลพวงมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม และยังถูกซ้ำอีกด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นเหตุทำให้เหล่าผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำเป็นต้องขอปรับขึ้นราคาในครั้งนี้
ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่สามารถปรับราคาได้ทันทีนั้น เนื่องมาจากเป็นสินค้าจำเป็นและเป็นสินค้าควบคุม โดยการจะปรับราคาในแต่ละครั้งจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทางภาครัฐเสียก่อน
ท่าทีของทาง กรมการค้าภายใน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายได้แถลงข่าวร่วมกัน ขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดมาตรฐาน จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท เนื่องจากภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในได้รับทราบและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง
ยอมรับว่าต้นทุนบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม รวมถึงวัตถุดิบหลัก เช่น แป้งสาลี ก็มีการปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากทั้งปัญหาโควิด-19 และวิกฤตด้านพลังงาน
แต่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้ตรึงราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพมาโดยตลอด ซึ่งกรมการค้าภายในขอขอบคุณในความร่วมมือมาเป็นอย่างดี
การพิจารณาการปรับขึ้นราคา
สำหรับการพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น จะพิจารณาเป็นราย ๆ โดยอยู่บนหลักการ วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ประกอบการต้องยังคงผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายสั่งการไว้แล้ว
ซึ่งกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด หากพบว่าผู้ประกอบการ ห้างร้าน ร้านค้าต่าง ๆ รายใดมีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรหรือกักตุนสินค้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะช่องทางใดต้องแสดงราคาอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศจะได้มีการเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามการจำหน่ายสินค้ายิ่งขึ้น
ไทยติด Top 10 บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด
ข้อมูลสถิติการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จาก World Instant Noodles Association ได้จัดอันดับประเทศที่มีการบริโภคหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากที่สุด 15 อันดับจากทั่วโลกในปี 2564 มีดังนี้
- 1.จีน 43,990 ล้านหน่วยต่อปี
- 2.อินโดนีเซีย 13,270 ล้านหน่วยต่อปี
- 3.เวียดนาม 8,560 ล้านหน่วยต่อปี
- 4.อินเดีย 7,560 ล้านหน่วยต่อปี
- 5.ญี่ปุ่น 5,850 ล้านหน่วยต่อปี
- 6.สหรัฐอเมริกา 4,980 ล้านหน่วยต่อปี
- 7.ฟิลิปปินส์ 4,440 ล้านหน่วยต่อปี
- 8.เกาหลีใต้ 3,790 ล้านหน่วยต่อปี
- 9.ไทย 3,630 ล้านหน่วยต่อปี
- 10.บราซิล 2,850 ล้านหน่วยต่อปี
- 11.ไนจีเรีย 2,620 ล้านหน่วยต่อปี
- 12.รัสเซีย 2,100 ล้านหน่วยต่อปี
- 13.เนปาล 1,590 ล้านหน่วยต่อปี
- 14.มาเลเซีย 1,580 ล้านหน่วยต่อปี
- 15.เม็กซิโก 1,360 ล้านหน่วยต่อปี
ประวัติพอสังเขปของ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดย ‘โมโมฟุคุ อันโดะ’ จากบริษัท นิสชิน ฟูดส์ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม และต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จากการที่ได้เห็นชาวญี่ปุ่นต้องเข้าแถวรอรับแจกขนมปังจากรัฐบาล แต่คนเหล่านั้นไม่มีความสุข
โมะโมะฟุคุ จึงคิดที่จะหาอาหารที่ชาวญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ในราคาถูกและเป็นที่ชื่นชอบด้วย และพบว่าแท้จริงแล้วคือ ราเม็ง หรือ บะหมี่ จึงได้พัฒนากระบวนการผลิตเส้นบะหมี่โดยการทอดและอบแห้งเป็นการถนอมอาหารที่สามารถนำกลับมารับประทานได้อีกครั้งเมื่อเติมน้ำร้อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางจำหน่ายครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมือวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ชิกิง ราเมง” (Chikin Ramen) ราคา 35 เยน
จากผลสำรวจชาวญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2543 พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสิ่งคิดค้นที่ดี่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 มีบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นอีกมากมายทั้งใน จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ อเมริกา และวางจำหน่ายไปทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ. 2548