KEY :
- ตัวแทนสภาการสาธารณสุขชุมชน เดินทางยื่นหนังสือ ขอติดตามความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุข
- ยื่นข้อเรียกร้อง 3 เรื่องที่ขอให้ช่วยติดตามความคืบหน้าคือ คือ การขอกำหนดตำแหน่งเป็นวิชาชีพ-เชี่ยวชาญเฉพาะ, การขอรับจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ และการเปลี่ยนสายงานทั่วไป เป็นสายงานวิชาการ
- เนื่องจากที่ผ่านมา แม้มีการอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และมีรายชื่อตกหล่นที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ
…
วันนี้ (15 ส.ค. 65) สภาการสาธารณสุขชุมชนพร้อมตัวแทนบุคลากรที่ทำงานโควิดจากทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เพื่อขอติดตามความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุข หลังส่งเรื่องให้ กพ. พิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่จนตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ที่สำนักงาน กพ. ไม่มีความคืบหน้า
โดยมี 3 ประเด็นที่สภาการสาธารณสุขชุมชนติดตาม ดังนี้
1.การขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข สายงานวิชาการ เป็นตำแหน่งประเภท วิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นสายงานเพิ่มใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางสภาฯได้ติดตามเรื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนอ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบในวันที่ 29 เมษายน 2565 และเสนอ ก.พ ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
2. การขอรับจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ กรณีปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) จากมติ ครม.ปี 2563 ที่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 ได้รับการบรรจุข้าราชการในสถานการณ์โควิด 19 รวม 4 สายงาน ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข แต่จนถึงปัจจุบัน(ผ่านมา2 ปี) ก็ยังมีบุคคลในสายงานวิชาการสาธารณสุข จำนวน 647 อัตรา ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับการบรรจุ
ในขณะที่การบรรจุข้าราชการในสถานการณ์โควิด 19 รอบใหม่ ซึ่ง อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มีมติเห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 จำนวน 63สายงาน รวม 37,144 คน ปัจจุบันสำนักงาน กพ. ก็ยังไม่มีการดำเนินการพิจารณาและนำเข้าที่ประชุม
3. การเปลี่ยนสายงานข้าราชการสายงานทั่วไปที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นสายงานวิชาการ กรณีพิเศษ จากมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 เช่นกัน จนถึงขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังไม่มีการดำเนินการพิจารณาและกำหนดหลักเณฑ์การปรับเปลี่ยนสายงาน
สภาการสาธารณสุขชุมชน ระบุว่าทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ยังไม่ได้ดำเนินการพิจารณา ทั้งที่ความก้าวหน้า ทั้ง 3 ประเด็นถือเป็นความมั่นคงบนฐานของวิชาชีพ การดำเนินการที่ล่าช้า อาจเกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ทั้งต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานจากผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนและสหวิชาชีพอื่น
…
ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล