KEY :
- ธ.ก.ส. ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตร
- เพื่อลดภาระในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมออกมาตรการดูแลภาระหนี้สินผ่านคลินิกหมอหนี้
- เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและการลงทุน ควบคู่การเติมศักยภาพการประกอบอาชีพทั้งการลดต้นทุนและการเพิ่มมูลค่าผลผลิต
ธ.ก.ส. ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตร เพื่อลดภาระในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมออกมาตรการดูแลภาระหนี้สินผ่านคลินิกหมอหนี้ การเติมสินเชื่อใหม่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและการลงทุน ควบคู่การเติมศักยภาพการประกอบอาชีพทั้งการลดต้นทุนและการเพิ่มมูลค่าผลผลิต
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทในการดูแลภาคการเกษตรและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง
พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ให้นานที่สุด ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ให้กับเกษตรกรลูกค้า สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร ให้มีกำลังในการฟื้นตัวจากผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าในทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การดูแลภาระหนี้สิน เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การไกล่เกลี่ยหนี้ และให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ
รวมถึงแนวทางการประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming อัตราดอกเบี้ย MRR สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นต้น และการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมถึง สนับสนุนแนวทางการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน