KEY :
- ฝีดาษลิง พบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 9 ปี
- ถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากส่วนใหญ่พบในแทบแอฟริกากลางและฝั่งตะวันตกของทวีป
- ฝีดาษลิง มีการพบการติดเชื้อนอกพื้นที่จากโรคประจำถิ่นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 2546
- ปัจจุบันการแพร่เชื้อของโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากคนสู่คน ทั้งการสัมผัสใกล้ชิด และจากรายงานพบว่าประวัติของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย
- การติดเชื้อฝีดาษลิงในไทย มีการยืนยันแล้วว่า พบผู้ติดเชื้อรายที่ 3 (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค.65)
‘ฝีดาษลิง’ กลายเป็นโรคติดต่ออีกชนิดที่ตอนนี้ทั่วโลกต่างเฝ้าระวังอย่างใกล้ และคัดกรองผู้คนทางเดินทางเข้าไปในแต่ละประเทศ นอกจากผู้ที่เดินทางมาจากทางฝั่งทวีปแอฟริกาถิ่นกำเนิดของโรคติดต่อดังกล่าว ทางฝั่งบ้านเราก็พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชาวไนจีเรีย ซึ่งพบเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะหลบหนีออกจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต และเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สุดท้ายถูกตามจับตัวได้ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
และรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติสัมผัสกับชาวต่างชาติ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเชื้อพิสูจน์ โดยผลการตรวจ PCR พบเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนไทยของแรกที่ติดเชื้อดังกล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 ได้รับการยืนยันจากทางกระทรวงสาธารณสุข ว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเป็นรายที่ 3 ในประเทศไทย โดยเป็นชาวต่างชาติ สัญชาติเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 เพื่อมาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต จากรายงานพบว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ ขณะที่การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงพบว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม
ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อทางฝั่งบ้านเราจะไม่ได้สูงและติดต่อรวดเร็ว แต่ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธุ์วิธีการปฏิบัติตัวในกันป้องกันกันอย่างต่อเนื่อง
ที่มาของ ‘ฝีดาษลิง’
ฝีดาษลิง หรือ ศัพท์ทางการแพทย์คือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคดังกล่าวถูกพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 9 ปี และต่อมาพบผู้ป่วยหลายรายในเขตพื้นที่ชนบทลุ่มน้ำคองโก ก่อนที่จะลามไปทางฝั่งแอฟริกากลางและฝั่งตะวันตก โดยมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยพบผู้ติดเชื้อ 11 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ เบนิน, แคมารูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, กาบอง, ไอวอรีโคสต์, ไลบีเรีย, สาธารณรัฐคองโก, เซียร์ราลีโอน และซูดานใต้
นอกการแพร่เชื้อภายในทวีปแอฟริกาแล้ว เชื้อดังกล่าวยังขยายออกไปยังประเทศอื่น ๆ โดยในปี 2546 เกิดการระบาดของฝีดาษลิงครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกรณีที่เชื่อมโยงไปถึงการสัมผัสกับกระรอกดินติดเชื้อ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในกรงเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศกานา ในการระบาดครั้งนั้นมีผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 70 รายในสหรัฐฯ
และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 มีรายงานว่าตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงหลายรายในหลายประเทศที่ไม่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
ชนิดของ ‘ฝีดาษลิง’
ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่มีดีเอ็นเอสายคู่ที่มีโครงสร้างห่อหุ้มเซลล์ (enveloped double-stranded DNA) ซึ่งเป็นไวรัสในสกุล Orthopoxvirus ของวงศ์ Poxviridae ไวรัสฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์หลักที่จำแนกตามการศึกษาวิวัฒนาการทางพันธุกรรม ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลาง (แถบลุ่มน้ำคองโก) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก
ในอดีต สายพันธุ์ลุ่มน้ำคองโกทำให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรงกว่า และเชื่อกันว่าสายพันธุ์นี้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการจำแนกเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์ตามเขตภูมิศาสตร์ในแคมารูน ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ตรวจพบทั้ง 2 สายพันธุ์
โดยพาหะของไวรัสดังกล่าว ตามรายงานระบุว่า เป็นสัตว์หลายสปีชีส์ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้ง่าย ได้แก่ กระรอกเชือก, กระรอกต้นไม้, หนูแกมเบียที่มีถุงหน้าท้อง, หนูดอร์เมาซ์, สัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ชนิดอื่น วิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงในธรรมชาติยังคงเป็นข้อมูลที่ไม่แน่ชัด และจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุแหล่งรังโรคที่แน่ชัดและอธิบายว่าไวรัสแพร่กระจายในธรรมชาติอย่างไร
การแพร่เชื้อของ ‘ฝีดาษลิง’
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การแพร่เชื้อดังกล่าวนั้นเกิดจากสัตว์สู่คน อาจเกิดจากการสัมผัวกับเลือด ของเหลว รอยโรคของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งในทวีปแอฟริกามีหลักฐานที่ยืนยันการตรวจพบการติดเชื้อฝีดาษลิงในสัตว์หลาย ๆ ชนิดตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยคาดว่าเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีความสุกไม่พอ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ติดเชื้อก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน
ในส่วนของการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากทางเดินหายใจ หรือ รอยโรคผิวหนังของผู้ติดต่อเชื้อ อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ห่วงโซ่การแพร่เชื้อในชุมชนที่ยาวที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ได้เพิ่มขึ้น และสถิติการติดเชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่นสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 6 ราย เป็น 9 ราย ซึ่งในตัวนี้ดังกล่าวนี้แสดงถึงภูมิคุ้มกันในทุกชุมชนที่ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องมาจากการยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมีที่แน่ชัดว่าโรคฝีดาษลิง สามารถแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจความจากเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์ก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน เนื่องจากมีการสัมผัสใกล้
ลักษณะอาการของโรค
ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษลิง มีตั้งแต่ 6-13 วัน หรืออาจอยู่ในช่วง 5-21 วัน สำหรับการติดเชื้อนั้น แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- 1.ระยะก่อนออกผื่น : อาการประกอบด้วย มีไข้ , ปวดศีรษะมาก , ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน (อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ)
- 2.ระยะออกผื่น : ปกติเริ่มจะภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยเฉพาะใบหน้า (ร้อยละ 95) และฝ่ามือฝ่าเท้า (ร้อยละ 75) นอกจากนี้ เยื่อบุช่องปาก (ร้อยละ 70) อวัยวะเพศ (ร้อยละ 30) เยื่อบุตา (ร้อยละ 20) และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย ผื่นจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามลำดับดังนี้ เริ่มจากผื่นราบ (รอยโรคที่มีฐานแบนราบ) เปลี่ยนเป็นผื่นนูน (รอยโรคที่เป็นตุ่มแข็งนูนเล็กน้อย), ถุงน้ำ (รอยโรคที่มีของเหลวใสบรรจุอยู่ภายใน), ตุ่มหนอง (รอยโรคที่มีของเหลวสีเหลืองบรรจุอยู่ภายใน) และแผ่นสะเก็ดที่แห้งและลอกออกเอง รอยโรคมีจำนวนแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่กี่รอยถึงหลายพันรอย ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รอยโรคอาจขยายรวมกันเป็นปื้นใหญ่จนกระทั่งผิวหนังลอกออกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ
จากข้อมูลพบว่าโรคดังกล่าวนั้น เป็นโรคที่สามารถหายเองได้ โดยระยะแสดงอาการจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ และยังพบอาการรุนแรงเกิดขึ้นในเด็กมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่การปริมาณของไวรัสที่ได้รับ ประกอบกับประวัติด้านสุขภาพ โรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เช่นกัน อาทิ ภาวะติดเชื้อทุติยภูมิ, โรคปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคไข้สมองอักเสบ และภาวะกระจกตาติดเชื้อที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) อาจเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิงได้ง่ายกว่า อันเนื่องมาจากการยุติการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคฝีดาษทั่วโลก ภายหลังโรคฝีดาษถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้ว
ในอดีตอัตราการป่วยตายของโรคฝีดาษลิงอยู่ที่ร้อยละ 0-11 ในประชากรทั่วไปและอัตรานี้สูงขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการป่วยตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-6
ฝีดาษลิง-ฝีดาษ แตกต่างกันหรือไม่?
โรคฝีดาษลิงลักษณะอาการคล้ายของโรคฝีดาษ ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสในสกุล orthopoxvirus ที่ถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้ว โรคฝีดาษแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเสียชีวิต พบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษจากธรรมชาติเมื่อปี 2520 และในปี 2523 มีการประกาศว่าโรคฝีดาษถูกกำจัดจนหมดสิ้นทั่วโลกภายหลังการดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนและควบคุมโรคทั่วโลก ทุกประเทศจึงได้ยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษที่เป็นวัคซีนแบบ vaccinia-based vaccines ตามกำหนดการฉีดวัคซีนโดยปกติเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว
เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ มีผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางได้ด้วย ปัจจุบันประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีนจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่า
ถึงแม้ว่าโรคฝีดาษไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอีกต่อไป ภาคสุขภาพทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจกลับมาเกิดขึ้นได้อีกเนื่องจากกลไกทางธรรมชาติ อุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ หรือการจงใจปล่อยเชื้อไวรัส เพื่อให้มั่นใจว่าทั่วโลกมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการอุบัติใหม่ของโรคฝีดาษ ขณะนี้มีวัคซีนและยาต้านไวรัสชนิดใหม่ รวมทั้งวิธีการวินิจฉัยโรคแบบใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา สิ่งเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันและควบคุมวิธีการวินิจฉัยโรคด้วย
การตรวจวินิจฉัยโรค
โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขจะเก็บตัวอย่างส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่มีสมรรถนะการตรวจวิเคราะห์เหมาะสมอย่างปลอดภัย การยืนยันว่าเป็นโรคฝีดาษลิงขึ้นอยู่ประเภทและคุณภาพของตัวอย่างส่งตรวจและประเภทของการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ควรเก็บตัวอย่างในภาชนะบรรจุและจัดส่งตัวอย่างตามข้อกำหนดของประเทศและข้อกำหนดสากล polymerase chain reaction (PCR) เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่นิยมใช้มากกว่าวิธีการอื่นเนื่องจาก PCR มีความแม่นยำและความไว (sensitivity) ที่เหมาะสม
ตัวอย่างส่งตรวจที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษวานรคือตัวอย่างจากรอยโรคผิวหนัง ได้แก่ เปลือกหรือของเหลวจากถุงน้ำและตุ่มหนอง และสะเก็ดแห้ง ถ้าทำได้ การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง พึงเก็บตัวอย่างรอยโรคไว้ในหลอดปลอดเชื้อที่แห้ง (ไม่มีน้ำยา viral transport media) และเก็บไว้ในที่เย็น โดยปกติ การตรวจเลือดด้วย PCR จะให้ผลการตรวจที่สรุปไม่ได้เนื่องจากไวรัสอยู่ในเลือดเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ตามระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจหลังจากเริ่มแสดงอาการ และปกติไม่ควรเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยทุกครั้ง
เนื่องจาก orthopoxvirus มีคุณสมบัติ serologically cross-reactive วิธีการตรวจหาแอนติเจนและแอนติบอดีไม่ให้ผลที่ยืนยันโรคฝีดาษวานรอย่างเจาะจง
ยารักษา-การฉีดวัคซีน
ยาต้านไวรัสชื่อ tecovirimat ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคฝีดาษลิงโดยสมาคมการแพทย์แห่งยุโรป (EMA) ในปี 2565 ตามข้อมูลการวิจัยในสัตว์และมนุษย์ แต่ยาชนิดนี้ยังไม่แพร่หลายทั่วไป แต่หากใช้ tecovirimat รักษาผู้ป่วย ควรติดตามตรวจสอบผลการรักษาในบริบทของการวิจัยทางคลินิกที่มีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลในอนาคต
สำหรับวัคซีนนั้นในงานวิจัยต่าง ๆ ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษได้มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้สูงถึงร้อยละ 85 ดังนั้น การฉีดวัคซีนโรคฝีดาษเมื่อก่อนอาจทำให้ภาวะการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง ปกติหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษจะปรากฏเป็นแผลเป็นบนต้นแขน ในปัจจุบันไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษชนิดเดิม (รุ่นแรก) ที่ให้บริการแก่ประชาชนแล้ว
แต่บุคลากรห้องปฏิบัติการหรือสาธารณสุขบางคนอาจได้รับวัคซีนโรคฝีดาษเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส orthopoxvirus ในสถานที่ทำงาน ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ผลิตจากไวรัสวัคซิเนีย (สายพันธุ์ Ankara) ที่ใหม่กว่าได้รับอนุมัติให้ใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เมื่อปี 2562 วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนแบบ 2 โดสที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก มีการพัฒนาวัคซีนฝีดาษและฝีดาษวานรเป็นสูตรที่แตกต่างกันตามชนิดของไวรัสฝีดาษ เนื่องจากการป้องกันแบบไขว้ (cross-protection) มีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับ orthopoxvirus
สถานการณ์ทั่วโลก
สถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค. 2565) พบผู้ป่วยยืนยัน ทั่วโลก 25,807 ราย ใน 84 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,326 ราย สเปน 4,765 ราย เยอรมัน 2,724 ราย อังกฤษ 2,672 ราย และฝรั่งเศส 2,171 ราย
อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก แนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษลิงให้กับประชาชนในวงกว้าง แต่อาจฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ (LAB) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ยังสามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษลิง โดยเน้นล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มี ความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก
ข้อมูล :
- องค์การอนามัยโลก (WHO)