KEY :
- GISTDA แจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565
- อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน จะได้รับผลกระทบเพียง 1.2%
- วัตถุอวกาศดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 21 ตัน
GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center แจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน (โคจรตามเส้นสีเขียวดังภาพ) โดยวัตถุอวกาศดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 21 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ)
โดยเปิดเผยข้อมูลพื้นที่บางส่วนของประเทศไทยที่วัตถุอวกาศชิ้นนี้จะโคจรพาดผ่านในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 จำนวน 2 รอบ (หากมีเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบต่อไป) ดังนี้
- รอบแรกโคจรจากฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ระหว่างเวลา 02:01:33 น.- 02:03:16 น. ผ่านจังหวัด ราชบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
- รอบที่ 2 จะโคจรจากทิศเหนือไปยังตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ระหว่างเวลา 11:21:06 น.- 11:22:57 น. ผ่านจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
สำหรับการปฏิบัติภารกิจของลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B)ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ
ทั้งนี้การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันศูนย์วิจัยดังกล่าว มีการวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของระบบอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการคาดการณ์ติดตามวัตถุอวกาศตกสู่โลก แล้วยังพัฒนาฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคต เช่น การแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศ (Space weather) เป็นต้น อีกด้วย
หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ณ วันนี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเพียง 1.2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และโคจรห่างจากพื้นโลกประมาณ 173 กิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้อย่างใกล้ชิด และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
ที่มา – GISTDA