KEY :
- พนักงานการท่าเรือฯ เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังถูกหลอกสมัครสมาชิกกองทุนฯ มีสมาชิกกว่า 2,000 คน เสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท
- ทางด้านทนาย ระบุ ขอให้ตรวจสอบการบริหารงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่
- ชี้เข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
วันนี้ (19 ก.ค. 65) ทนายกฤษฎา อินทามระ พร้อมตัวแทนพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยบางส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีถูกหลอกลวงให้สมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วมีการโกงเงินประเดิมที่การท่าเรือฯอต้องจ่ายเข้ากองทุนเลี้ยงชีพสำรองในทันทีที่มีการสมัครเป็นสมาชิกกองทุน เพื่อเป็นการชดเชยสิทธิของพนักงานที่มีอยู่ในระบบบำนาญเดิมแต่ออกมาเข้าระบบกองทุน ทำให้สมาชิกกว่า 2,000 คนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท
โดยทนายกฤษฎา ได้ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบการบริหารงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ เพราะเสียหายกว่า 4,000ล้านบาท มีพนักงานกว่า 2,000 คนไดรับความเสียหายดังนี้
1.การท่าเรือและกองทุนสัญญาว่าในวันสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น การท่าเรือจะจ่ายเงินประเดิมให้พนักงานรวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทไปเข้าบัญชีของพนักงานในกองทุน แต่ความจริงแล้วขณะนั้นการท่าเรือไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคนได้ ซึ่งเงินประเดิมนั้นแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุการทำงานตั้งแต่ปีที่เริ่มงานถึงปีที่สมัครเข้ากองทุน เช่นบางคนมีเงินประเดิม 3-5 ล้านบาท บางคนมีเงินประเดิม 1-2 ล้านบาท เป็นต้น แต่จากการหลอกลวงว่าการท่าเรือจะมีการนำเงินประเดิมไปเข้าบัญชีของพนักงานในกองทุนนั้น ทำให้พนักงานหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกกองทุนกว่า 2,000 คนในปี 2548-2549
2.เมื่อกองทุนได้จดทะเบียนในปี 2548 แต่ปรากฎว่าหลังจากสมัครเป็นสมาชิกแล้วนาน 5 ปีพนักงานฯ จึงได้รับเงินประเดิมครบถ้วนในปี 2553 แต่ความเสียหายในช่วงเวลา 5 ปีนั้น ก็ทำให้พนักงานไม่มีเงินที่จะนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดหลักทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ และผลที่ตามมาคือ ขณะออกจากกองทุนพนักงานนับพันคนได้รับเงินน้อยกว่าพนักงานที่อยู่ในระบบบำนาญเดิมอย่างมาก แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผู้บริหารการท่าเรือ และผู้บริหารกองทุน
ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายผู้บริหารได้รับเงินเมื่อออกจากกองทุนมากกว่าพนักงานหลายล้านบาท ทั้งที่ผู้บริหารบางคนเงินประเดิมน้อยกว่าหรือเท่ากับพนักงาน การบริหารงานในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ไม่นำเงินจำนวน 4,000 ล้านบาทไปเข้าบัญชีของสมาชิกในกองทุนตั้งแต่วันสมัครตามข้อบังคับนั้น เป็นเหตุให้พนักงานได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3
ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล