KEY :
- สหประชาชาติ เผยการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะสูงแตะ 8 พันล้านคน ในวันที่ 15 พ.ย. นี้
- คาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปี 2023
- อัตราการเติบโตของประชากรโลกนั้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 โดยต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2020
สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะสูงแตะ 8 พันล้านคน ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ โดยคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปี 2023
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลโลกของทุกคน และเป็นช่วงเวลาแห่งการตระหนักถึงข้อผูกพันที่ยังไม่บรรลุซึ่งกันและกัน
รายงานแนวโน้มประชากรโลก (World Population Prospects) ประจำปี 2022 ระบุว่าอัตราการเติบโตของประชากรโลกนั้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1950 โดยต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2020
ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นราว 8.5 พันล้านคนในปี 2030 และ 9.7 พันล้านคนในปี 2050 ก่อนจะแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.04 หมื่นล้านคนในช่วงทศวรรษ 2080 โดยคาดว่ากลุ่มประเทศอนุภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) จะครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจนถึงปี 2050
ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าประชากรที่จะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2050 นั้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
หลิวเจิ้นหมิน รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร ทำให้การขจัดความยากจน การต่อสู้กับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ และการเพิ่มความครอบคลุมของระบบสุขภาพและการศึกษา ดำเนินไปยากยิ่งขึ้น ทว่าทางกลับกัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศ จะมีส่วนส่งผลให้ระดับภาวะเจริญพันธุ์ลดลงและชะลอการเติบโตของประชากรโลก
ที่มา – Xinhua