คัดลอก URL แล้ว
ก.พลังงาน แจง ‘ค่าการตลาดน้ำมัน’ อยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล

ก.พลังงาน แจง ‘ค่าการตลาดน้ำมัน’ อยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล

KEY :

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 กับปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับลดลง แต่ค่าการตลาดปรับสูงขึ้นนั้น

กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า จากแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนั้น ในการพิจารณาค่าการตลาดควรดูในภาพรวมของทุกชนิดน้ำมัน เพราะสถานีบริการไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวัน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก โดยหากพิจารณาในปีนี้ค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดในแต่ละเดือนก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล

ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าการตลาดโดยรวมของสถานีบริการ (เฉลี่ยของทุกชนิดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล) ตั้งแต่วันที่ 1 – 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี 2564 ทั้งปี (2.14 บาทต่อลิตร) และอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล (2.00 +/- 0.40 บาทต่อลิตร)

สำหรับค่าการตลาด คือ รายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายๆ อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าการตลาดของผู้ให้บริการแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน ค่าการตลาดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเผยแพร่เป็นค่าการตลาดอ้างอิงที่มาจากการคำนวณเพื่อใช้ในการติดตามดูแลกรอบค่าการตลาด

“หากจะพิจารณาค่าการตลาดน้ำมัน ควรจะดูในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่าย ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งทางภาครัฐได้มีการศึกษากรอบค่าการตลาดซึ่งควรอยู่ที่ 2 บาท และ +/- ได้ 0.40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาค่าการตลาดตั้งแต่วันที่ 1 – 6 กรกฎาคม 2565 ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะอยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนด

กระทรวงพลังงานขอเรียนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์และใช้หลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับประชาชน ในสภาวะปัจจุบันที่เกิด วิฤตการณ์ด้านราคาพลังงานทั่วโลก ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนสามารถบริหารจัดการการใช้รถยนต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามความเหมาะสมและจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่น ใช้รถเท่าที่จำเป็น ศึกษาเส้นทางก่อนการเดินทาง หากเป็นไปได้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่การจรจรติดขัด ตรวจสภาพรถตามที่ค่ายรถยนต์กำหนด ”

นายสมภพ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง