คัดลอก URL แล้ว
Trash Lucky : เปลี่ยนขยะในมือมาลุ้นโชค ร่วมรักษ์โลกไปพร้อมกัน

Trash Lucky : เปลี่ยนขยะในมือมาลุ้นโชค ร่วมรักษ์โลกไปพร้อมกัน

ปัญหาด้านขยะตกค้าง และสิ่งเหลือจากการบริโภคของผู้คนในชีวิตประจำวัน ถ้ามองโดยเผินๆ แล้ว อาจไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตหรือต้องใส่ใจ แต่เมื่อมองในภาพใหญ่จะพบว่าจำนวนขยะที่รอการทำลายมีมากเกินกว่าอัตราความสามารถที่ทำได้ในโรงงานกำจัดขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้หรือย่อยสลายยาก ที่ต้องใช้กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปกลับมาใหม่ และเมื่อนานวันเข้าการสะสมก็กลายเป็นปัญหาตกค้าง ยากที่จะสะสาง กลายเป็นเรื่องใหญ่ไม่สิ้นสุด 

แต่หากจะเน้นย้ำให้เกิดการปฏิบัติจากภาคประชาชนหรือหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมการแยกขยะ ก็ดูจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ก่อนการตระหนักรู้จะเกิดขึ้น 

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหากการแยกขยะ จะสามารถ ‘สนุก’ และสามารถ ‘ลุ้นโชค’ ได้ไปพร้อมกัน? 

นั่นคือแนวคิดพื้นฐานของ คุณณัฐภัค อติชาตการ ผู้ก่อตั้ง ‘Trash Lucky’ แพลทฟอร์มชิงโชค ที่เปลี่ยนขยะ ให้กลายเป็นแต้ม ลุ้นรับของรางวัล และจัดสรรขยะเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกวิธีที่กำลังไปได้ดี และตอบสนองต่อความต้องการทั้งประชาชน อีกทั้งยังเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมไปในตัว

อดีตนักปั้น Startup ผู้ไม่อยากเห็นทะเลกลายเป็น ‘บ่อขยะลอยได้’

แรงบันดาลใจในการก่อตั้งธุรกิจ Startup ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือต้องการแก้ไขปัญหา ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง และสำหรับคุณณัฐภัค ผู้ก่อตั้ง Trash Lucky นั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวง Startup  เพราะมีประสบการณ์ในการดำเนินงาน และช่วยก่อตั้ง Startup ราย อื่นๆ มาแล้ว จึงเรียกได้ว่ามีมุมมองที่ชัดเจนต่อธุรกิจนี้

“ผมเคยผ่านงานด้าน Startup ตัวอื่นๆ และมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ ว่าตนเองน่าจะสามารถก่อตั้งธุรกิจ ภายใต้ความรู้และประสบการณ์ที่มี ส่วนที่เหลือคือมองหาสิ่งที่จะเป็นปัญหาเพื่อแก้ไข”และด้วยความที่เป็นผู้ชื่นชอบการเที่ยวทะเล การดำน้ำ และธรรมชาติ แต่สิ่งที่คุณณัฐภัคต้องเหน็ดเหนื่อยใจที่สุดทุกครั้ง คือการเห็น ‘เศษขยะ’ ที่นับวันยิ่งเพิ่มสู่ผืนน้ำมากขึ้นทุกที

“สารภาพว่าเบื่อมากครับ กับการไปเที่ยวทะเล แล้วต้องมาเจอกับขยะ ผมไม่อยากเห็นสิ่งนี้เลย และจากผลสำรวจพบว่า ขยะในทะเลกว่า 80% นั้น มาจากขยะที่อยู่บนแผ่นดิน แล้วเคลื่อนไหลลงสู่ทะเล นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นไอเดีย ว่าจะทำอย่างไร จึงจะจัดการกับขยะตั้งแต่ต้นทาง”

ขยะในมือท่าน เปลี่ยนมันมา ‘ชิงโชค’

หลายครั้ง ปัญหาสำหรับเรื่องใหญ่ ก็อาจจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ขอเพียงวิธีการนั้น มีความชัดเจน แข็งแรงในแนวทาง และสามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่ง Trash Lucky ก็เกิดจากแนวคิดดังกล่าวนี้ 

“ตัวเลขมูลค่าที่คนไทยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ตีได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี บ่งบอกว่าคนไทยชื่นชอบการเสี่ยงโชค ก็เลยจับแนวคิดดังกล่าว มาผสานรวมกับการคัดแยกและกำจัดขยะ จนเกิดเป็น Trash Lucky ขึ้นมา”

Trash Lucky ในทางปฏิบัตินั้นแสนง่าย เพียงทำการ คัดแยกขยะ และเข้าสู่แพลทฟอร์ม ระบบจะทำการเปลี่ยนปริมาณขยะเป็น ‘แต้ม’ เพื่อใช้สะสม ลุ้นของรางวัลในทุกต้นเดือน ยิ่งคัดแยกมาก ก็ยิ่งมีแต้มและลุ้นได้มาก 

“Trash Lucky คือแพลทฟอร์มที่ให้คนไทยสามารถรีไซเคิลขยะและลุ้นรับรางวัลได้ในคราวเดียวกัน โดยการนำขยะมาให้เรา และเราจะตีเป็นปริมาณขยะที่สะสม พอจบรอบเดือน ก็จะแปลงเป็นแต้ม และตั๋วลุ้นรางวัล จับรางวัลผ่าน Facebook Live ของทางบริษัท ทั้งที่ได้จากทางเราและได้จากทางสปอนเซอร์ที่เข้ามา”

แน่นอนว่า ขยะที่ Trash Lucky รับมานั้น จะถูกคัดแยกอีกครั้ง และนำส่งไปสู่กระบวนการทำลายหรือรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมใหม่ ขึ้นกับประเภทของขยะที่ได้มา รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เช่น Coca-Cola หรือ Garnier ที่จะมีของรางวัลใหญ่ในบางเดือน และจำนวนขยะที่ส่งเข้าโรงงาน ก็จัดเป็นรายได้ ที่จะถูกหมุนและเปลี่ยนเป็นของรางวัลอีกครั้ง “รายได้ของ Trash Lucky นั้น เกิดจากเงินที่ได้จากการรีไซเคิลขยะตามโรงงานแปรรูป และมีโมเดลทางธุรกิจแบบ Revenue-Based ซึ่งถ้ามีผู้ใช้งานในระบบมาก ได้ขยะมามาก ของรางวัลที่ได้ก็จะยิ่งมากมูลค่าตามไปด้วย”

สตาร์ทเครื่องเริ่มแรก และอุปสรรคในช่วง COVID-19

แต่ก็เช่นเดียวกับธุรกิจ Startup อื่นๆ ที่การเริ่มต้นคือจุดที่ยากที่สุด และสำหรับคุณณัฐภัคเอง ก็ไม่แตกต่างกัน การที่ Trash Lucky ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Space-F ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทำให้กระบวนการเบื้องต้นนั้น ง่ายขึ้น 

“ทางผมได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน 60% หลังจากที่เสนอโครงการ และส่วนที่เหลือคือค่าดำเนินการที่ทางผมต้องมีไว้ในมือ ซึ่งต้องถือว่า NIA ช่วยได้มากเลยครับ”

แต่อุปสรรคในการทำธุรกิจยังไม่ได้หมดเพียงเท่านั้น เพราะแม้จะมีความเรียบง่าย ชัดเจน และปฏิบัติได้จริง แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็กระทบต่อกระบวนการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

“ช่วง COVID-19 แพร่ระบาดนั้น ค่อนข้างกระทบอย่างมาก เพราะธุรกิจของ Trash Lucky ต้องอาศัยการสื่อสารกับชุมชนเรื่องขั้นตอนการแยกขยะ และกระบวนการในการใช้งานระบบ ทั้งในโรงเรียน เขตที่อยู่อาศัย หรือสำนักงาน แต่พอมีการแพร่ระบาด ทุกอย่างหยุดลงชั่วคราว ไม่สามารถทำอะไรได้ พอมีการประกาศเปิด ก็ เริ่มทำ Workshop อีกครั้ง แต่ก็มีการสั่งปิดใหม่อีก ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง”

แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ในฐานะผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะ คุณณัฐภัคมองว่าบทบาทที่ภาครัฐจะสามารถช่วยเหลือได้นั้น ค่อนข้างเป็นมุมที่น่าสนใจ 

“ที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุนที่สุด คือการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อ-ขายขยะ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจไม่ต้องเน้นไปที่ปริมาณมากๆ จนละเลยการคัดแยกแล้ว ก็จะทำให้เกิดการตรวจสอบข้อมูล และความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจตามมาด้วย”

ก้าวต่อไป กับหัวใจ ‘คนกลาง’ แห่งการคัดแยกขยะ

Trash Lucky เปิดทำการในเดือนมิถุนายน 2019 และในปีนี้ กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่สาม พร้อมได้ขยายในส่วนผู้ที่อยู่ในระบบและในส่วนของพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจ ซึ่งคุณณัฐภัคมองว่า เป็นหมุดหมายหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจ 

“การที่ Trash Lucky ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกในการสนับสนุนด้านของรางวัล ในฐานะ Startup เล็กๆ ที่เปิดมาได้ไม่นาน ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งเช่นกัน”

แต่นั่นยังไม่ใช่ปลายทางสุดท้าย เพราะสำหรับคุณณัฐภัคแล้ว วิสัยทัศน์ที่มีกับการแยกขยะและสิ่งแวดล้อม ยังมีระยะทางอีกยาวไกล 

“ส่วนตัวมองว่า อยากให้ Trash Lucky เป็น “คนกลาง” ประสานระหว่างชุมชนที่อยู่ในระบบแพลทฟอร์ม และโรงงานที่รับซื้อขยะ ที่แม่นยำในระดับที่สามารถบอกได้เลยว่า มีจำนวนขยะที่รอการจัดการอยู่เท่าใด ไม่ให้เกิดการตีรถเสียเที่ยว หรือเกิดกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน และแน่นอน เรายังอยากเห็นทะเลที่ใสสะอาด ปราศจากขยะครับ” 

ความเปลี่ยนแปลง จะเริ่มต้นจากการลงมือทำของใครคนหนึ่งเป็นตัวตั้งต้นเสมอ เป็นเช่นนั้น และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace
ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง