KEY :
- กระแส Soft Power ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง ‘มิลลิ’ ทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ในงานเทศกาลดนตรี Coachella 2022 แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- Soft Power มีความสำคัญอย่างยิ่งตามหลักวิชาการด้านการเมือง เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นอำนาจที่ทำให้ประเทศอื่นยินดีปฏิบัติตามความต้องการของเรา
- ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งคือการผลักดัน “Soft Power” ที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทย
- การจากจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 35
Soft Power ถูกพูดถึงอีกครั้งในบ้านเรา จากการจบการแสดงโชว์คอนเสิร์ตของ ‘มิลลิ’ MILLI หรือ ดนุภา คณาธีรกุล นักร้องแรปเปอร์หญิงชาวไทย ในวัยเพียง 19 ปี ด้วยการทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ในงานเทศกาลดนตรี Coachella 2022 (โคเชลลา) หรือ ในชื่ออย่างเป็นทางการคือ เทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ (The Coachella Valley Music and Arts Festival) ซึ่งจัดขึ้นที่ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้ขึ้นแสดงเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา
การแสดงโชว์ของ ‘มิลลิ’ ที่สมบูรณ์แบบ และปิดท้ายด้วยการทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ถือได้ว่าเป็นกระแสที่ดีมาก ๆ ทั้งในฝั่งบ้านเราและต่างชาติ จนนำไปสู่ ข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ ที่คนไทยหลาย ๆ ต้องสรรหามารับประทานตามกระแสเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ กลายเป็นส่งผลดีในตลาดบ้านเราตั้งแต่สวนมะม่วงไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวมะม่วงกันเลยทีเดียว
จนท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมากล่าวชื่นชม ‘มิลลิ’ ในการมีส่วนช่วยผลักดันวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยอย่าง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ออกสู่สายตาชาวโลกในงานคอนเสิร์ตดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการผลักดันและสนับสนุน Soft Power มาโดยตลอด
ปรากฏการณ์กระแส Soft Power ในไทยที่ผ่านมา เราจะได้เห็นอยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งศิลปินไทยที่โกอินเตอร์สู่วงการ K-Pop ในเกาหลี อย่าง ลิซา ลลิษา มโนบาล วงแบล็กพิงก์ (Blackpink) แบมแบม Got7 หรือแม้กระทั่งยุคบุกเบิกวงการ K-Pop ชาวไทยอย่าง นิชคุณ 2PM ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ได้เผยแพร่สู่เวทีระดับโลกมาแล้วอีกมากมายทั้งในส่วนของศิลปะ-วัฒนธรรม อาหาร อุตสหกรรมบันเทิง การท่องเที่ยว เป็นต้น
Soft Power คืออะไร ?
คำ ๆ นี้ อันที่จริงแล้วมีการจำกัดความมาแล้วหลายปี โดยผู้ที่ริเริ่มให้คำจำกัดความนี้ คือ ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่ง Soft Power มีความสำคัญอย่างยิ่งตามหลักวิชาการด้านการเมือง เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นอำนาจที่ทำให้ประเทศอื่นยินดีปฏิบัติตามความต้องการของเรา โดยไม่จำเป็นต้องบังคับหรือมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างไปจากการใช้อิทธิพลในการบังคับทางการเมือง ทางทหาร อย่าง Hard Power
Soft power ประกอบไปด้วย 3 ประการ
- วัฒนธรรม (culture)
- ค่านิยมทางการเมือง (political values)
- นโยบายต่างประเทศ (foreign policies)
Brand Finance จัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 โดย Top 10 มีดังนี้
อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา : 70.7 คะแนน
อันดับที่ 2 สหราชอาณาจักร : 64.9 คะแนน
อันดับที่ 3 เยอรมนี : 64.6 คะแนน
อันดับที่ 4 จีน : 64.2 คะแนน
อันดับที่ 5 ญี่ปุ่น : 63.5 คะแนน
อันดับที่ 6 ฝรั่งเศส : 60.6 คะแนน
อันดับที่ 7 แคนาดา : 59.5 คะแนน
อันดับที่ 8 สวิตเซอร์แลนด์ : 56.6 คะแนน
อันดับที่ 9 รัสเซีย : 56.1 คะแนน
อันดับที่ 10 อิตาลี : 54.7 คะแนน
ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 35
Soft Power ของไทย ด้านอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยทั้งภาพยนตร์และดนตรีเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทั้ง “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” และ “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ศิลปินเกาหลี สัญชาติไทยที่มีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านผลงานของตนเอง
รวมทั้งยังมีศิลปินนักดนตรีอิสระของไทยหลายคนที่เป็นที่ชื่นชมและได้รับความสนใจในต่างประเทศ เช่น วิภูริศ ศิริทิพย์ (Phum Viphurit) พาราไดส์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์ (Paradise Bangkok International Molam Band) วงหมอลำของไทย ที่ไปสร้างชื่อเสียงทำให้วัฒนธรรมและศิลปะด้านดนตรีของไทยได้รับความสนใจในต่างประเทศ
นโยบาย soft power ในไทย
ปัจจุบันภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล โดยส่วนหนึ่งคือการผลักดัน “Soft Power” ที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่
- 1.อาหาร (Food)
- 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
- 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion)
- 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting)
- 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขาด้วย คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ด้วยเอกลักษณ์ – วัฒนธรรมไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นรากฐานที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม สะท้อนผ่านอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม บันเทิง เพลง ภาพยนตร์และสถานที่ท่องเที่ยว กลายเป็น Soft Power ไทยที่เป็นที่รู้จักและได้รับการชื่นชมจากคนทั่วโลก
เมื่อผนวกกับพลังและศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ที่ประกอบด้วยศิลปินไทยที่มีความสามารถ ทีมงานบุคลากรเบื้องหลังที่มีทักษะและเชี่ยวชาญ และการสนับสนุนของภาครัฐ จะเป็นการสร้างโอกาสและช่องทางใหม่ ๆ ผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Soft Power กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
“พาณิชย์” โชว์ผลงานดัน Soft Power
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ได้ตั้งเป้า หมายผลักดันการส่งออกใน 4 กลุ่มสินค้าเกี่ยวข้อง ได้แก่ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย ผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.บ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power 2.พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 3.ขยายตลาดสินค้าอาหารไทย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจบริการ Wellness Medical Service (WMS) และ 4.ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทย โดยในปี 2565 มีโครงการสนับสนุนทั้งสิ้น 32 โครงการ
ผลการดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรกของกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
- 1.การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ Thai Select ร่วมกับร้านอาหารและผู้นำเข้าอาหารไทย ดำเนินการแล้ว ใน 16 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา จีน โปแลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็ก สเปน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และอิตาลี
- 2.การส่งเสริมตลาดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องสู่ตลาดต่างประเทศ (ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชั่น คาแรคเตอร์) มีแผนดำเนินการ 4 ประเทศ (สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) และรูปแบบออนไลน์ ดำเนินการแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ American Film Market 2021 (Online), Kidscreen Summit Virtual 2022 กิจกรรม Content Pitching และการเข้าร่วมงาน Global Game Exhibition G-Star 2021 ผู้ประกอบการเข้าร่วม 30 ราย สร้างมูลค่าการค้า 1,181 ล้านบาท
- 3.การส่งเสริม Wellness Medical Service สุขภาพความงาม ใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน โดยการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา/สมุนไพร ในงาน Beauty Expo และ Beauty World Middle East 2021 (รูปแบบ Mirror & Mirror) ผู้ประกอบการเข้าร่วม 29 ราย มูลค่าเจรจาการค้า 62.09 ล้านบาท
- 4.การบ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อสร้าง Mindset ด้าน Soft Power ผ่านโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) และ Salesman จังหวัด Go Intern ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและ Salesman จังหวัดยุคใหม่แล้ว 1,652 ราย
- 5.การส่งเสริมสินค้าสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ไทย ผ่านโครงการส่งเสริมนักออกแบบ สินค้า/บริการนวัตกรรม และพัฒนาส่งเสริมสินค้า OTOP อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการดำเนินการแล้ว 72 ราย มูลค่าการค้า 14.39 ล้านบาท
- 6.การส่งเสริมแบรนด์ประเทศไทย ผ่านตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark และการส่งเสริมสินค้า ที่มีการออกแบบดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการศักยภาพไทยสู่ตลาดโลกผู้ประกอบการ 95 ราย
มองภาพกว้างกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล
BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ
BCG เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
การผลักดันการพัฒนา BCG ต้องเป็นการผนึกกำลังในการทำงานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” (Quadruple Helix) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ-เอกชน/ชุมชน/สังคมมหาวิทยาลัยสถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อดึงความรู้ ความสามารถและวิทยาการเข้ามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศ
…
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทย มีทรัพยากร Soft Power จำนวนมากหลากหลายด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว อาหารและผลไม้ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของคนไทย ศิลปะการแสดงต่าง ๆ ถึงแม้ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยอาจไม่ใช่ประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก หรือ ระดับภูมิภาค ทางด้าน Soft Power
แต่สิ่งสำคัญที่เรามีคือ ทรัพยากรที่ดี เพียงแต่ขาดการวางรากฐาน การปลูกฝังที่ชัดเจน แม้กระทั่งแรงผลักดันจากหลาย ๆ ส่วน การดึงประสิทธิภาพของทรัพยากร Soft Power ออกมาใช้อย่างเต็มที่และตรงจุด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลผลิตออกสู่สายตาชาวโลกพร้อมขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อย่างภาคภูมิใจ
ข้อมูล :
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างปรพะเทศ
- www.bcg.in.th