คัดลอก URL แล้ว
วิกฤติในปากีสถาน สู่การร่วงหล่นจากอำนาจของ อิมราน ข่าน

วิกฤติในปากีสถาน สู่การร่วงหล่นจากอำนาจของ อิมราน ข่าน

KEY :

เกิดอะไรขึ้นในปากีสถาน

จากหลาย ๆ ปัญหาที่รุมเร้าอยู่ในประเทศปากีสถานในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่นายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ได้ดำรงตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายค้านของปากีสถาน ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 เพื่อรวบรวมคะแนนเสียงของสมาชิกสภา ในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอิมราน ข่าน โดยระบุว่า รัฐบาลของนายอิมราน ข่าน ไม่มีความพร้อมที่จะรับมือ หรือแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปากีสถานได้ ซึ่งมีกำหนดการเปิดอภิปรายในช่วงปลายเดือน มี.ค. 65

แต่การอภิปรายดังกล่าว กลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ผู้นำฝ่ายค้านในปากีสถานไม่พอใจ และเดินทางประท้วงต่อคำสั่งเลื่อนการอภิปรายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้นในปากีสถาน ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนนายอิมราน ข่าน และกลุ่มฝ่ายค้านที่ต้องการให้ข่าน ลงจากอำนาจ

ซึ่งข่าน ระบุว่า การประท้วงของฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นนั้น มีต่างชาติอยู่เบื้องหลังเพื่อต้องการโค่นล้มรัฐบาลของตนเอง

แต่จากแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น และความไม่มั่นใจในฐานคะแนนเสียงหากต้องมีการลงมติไม่ไว้วางใจ อีกทั้งในระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างข่าน กับกองทัพปากีสถาน ไม่สู้ดีนัก แม้ว่าที่ผ่านมา ข่านจะถูกมองว่า ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจนสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้ก็ตาม

ทำให้ นายอารีฟ อัลวี ประธานาธิบดีปากีสถาน ประกาศยุบสภา และจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ฝ่ายค้านและผู้ประท้วงไม่พอใจ โดยมองว่า นี่คือการเลี่ยงประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของรัฐบาลอิมราน ข่านเท่านั้น พร้อมกับยื่นคำร้องต่อศาลสูงของปากีสถาน

แล้วผลการตัดสินของศาลสูงปากีสถานออกมา ว่า การที่รับบาลของข่าน ให้ประธานาธิบดีปากีสถานสั่งยุบสภาผู้แทนราษฏร และจัดการเลือกตั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญของปากีสถาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้มอทั้งมห้มีการเปิดประชุมสภา เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอิมราน ข่าน

นำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีการอภิปรายยาวนานกว่า 12 ชั่วโมง และจบลงด้วยผลการลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” นายอิมราน ข่าน 174 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภา จากคะแนนเสียงในสภาทั้งหมด 342 เสียง ในขณะที่อิมราน ข่าน ยังคงระบุว่า สหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มรัฐบาลของเขา

จากดาวรุ่ง สู่ดาวร่วง

นายอิมราน ข่าน นั้นได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในฐานะของกัปตันทีมคริกเกตที่สามารถนำทีมคริกเกตของปากีสถานคว้าแชมป์โลกได้ในปี 1992 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของปากีสถาน ซึ่งนั่นจึงทำให้อิมราน ข่าน อยู่ในสถานะไม่ต่างจากวีรบุรุษผู้นำชัยชนะสู่ปากีสถาน และความเป็นวีรบุรุษนี้ ทำให้ข่าน เข้าสู่การรับเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ประเด็นเล็ก ๆ และค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

ในที่สุด ข่าน ก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2018 ด้วยความเป็นวีรบุรุษ อายุยังน้อยมาก จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ไฟแรง โดยข่าน ให้สัญญาในการเข้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น และเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านการต่างประเทศ ทำให้ข่าน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้ว่า หลายฝ่ายมองว่า ข่าน ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งก็ตาม

และตลอดระยะ 3 ปีครึ่งของการดำรงตำแหน่ง ข่าน เผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านวิกฤติเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ด้วย

วิกฤติเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ข่าน เข้ารับตำแหน่ง ปากีสถานเผชิญปัญหาทางด้านของเศรษฐกิจที่ซบเซา อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งปากีสถานเองมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากปากีสถานจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าหลายอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงานและอาหาร ในขณะที่ภาคการผลิตของประเทศไม่ได้สูงมาก และการส่งออกน้อยกว่าการนำเข้าถึง 2 เท่าตัว

ในส่วนของการจัดเก็บภาษีก็ไม่มากเพียงพอ มีประชาชนเพียง 1% เท่านั้นที่เสียภาษีเงินได้ และที่เหลือเป็นการเสียภาษีโดยอ้อมราว 85% ด้วยปัญหาสะสมมา ทำให้ปากีสถานต้องกู้เงินต่างชาติ โดยเฉพาะ IMF มาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ปากีสถาน ยังคงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะโครงการสร้างโรงไฟฟ้า ที่มีค่าใช่จ่ายสูงกว่ารายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนเสียอีก สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์หนี้สาธารณะของปากีสถานสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่ ข่านจะรับตำแหน่งเสียอีก

การที่ปากีสถานไม่ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเป็นการเน้นในการจัดเก็บภาษี และพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ มากกว่าการสนับสนุนภาคการผลิต – ส่งออก รวมถึงลดรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้สถานการณ์ปัญหายิ่งหนักลงเรื่อย ๆ

และเมื่อปี 2019 ในรัฐบาลของอิมราน ข่าน ได้กู้เงินอีกจำนวน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากไอเอ็มเอฟอีกเป็นครั้งที่ 22 ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและใช้หนี้ต่างประเทศ ที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี ในขณะที่ภาคการส่งออกของปากีสถาน ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

และจากปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ ทำให้ค่าเงินของปากีสถานอ่อนค่าลงอย่างมาก จากเดิมที่มีอัตราแรกเปลี่ยนราว 110 รูปีฯ ต่อดอลล่าห์ ก็กลายเป็น 150 กว่ารูปีฯ ต่อดอลล่าห์ โดยโฆษกของรัฐบาลระบุว่า เพื่อเป็นการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของตลอดเงินต่างระหว่างประเทศ และแก้ไขความไม่สมดุลของตลาด อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตุว่า นี่อาจจะเป็นเงื่อนไขบางอย่างที่มาจากทางไอเอ็มเอฟ ภายหลังการปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลปากีสถาน

และหลังจากนั้น ค่าเงินรูปีของปากีสถานก็อ่อนค้างลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาของค่าเงินที่อ่อนตัวลงอย่างมากนั้น ทำให้ปากีสถานต้องใช้เงินรูปีฯ มากขึ้นในการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิม นั่นยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในช่วงปี 2019 – 2020 จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของปากีสถานย่ำแย่ลงไปอีก

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลต่อโดยตรงต่อราคาอาหาร สินค้าบริโภคต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้า กำลังการซื้อของประชาชนเริ่มลดลง แต่ในปี 2021 สถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น ทั้งจากการรัดเข็มขัดของรัฐบาล, การขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากไอเอ็มเอฟ (ตามกรอบเงินกู้เดิม) ควบคู่กับการกลับมาเดินหน้าได้หลังวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด

และแน่นอนว่า อัตราค่าเงินที่อ่อนค่าลงไปนั้น ก็จะทำให้ปากีสถานรับภาระ “ดอกเบี้ย” เงินกู้ ที่จะเกิดขึ้นสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ท่ามกลางทุนสำรองระหว่างประเทศที่หร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

อัตราเงินเฟ้อของปากีสถานยังคงเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2021 และพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง จนถึงต้นปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าหลายชนิดพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า เช่น น้ำตาล น้ำมันปาล์ม รวมถึงสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน กระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งปากีสถานเองก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลราว 80% ที่ใช้ในประเทศ ดังนั้นยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นไปอีก และทำให้อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ที่ 12.7% (เดือนมีนาคม 2565)

ความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนระหว่าง กองทัพ – นานาชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ ข่าน ชนะการเลือกตั้ง หลายฝ่ายมองว่า ข่านนั้นได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและช่วยให้ได้รับการชนะการเลือกตั้งในที่สุด ซึ่งการเมืองในปากีสถานนั้นจึงถูกมองว่า มีกองทัพเข้ามาเกี่ยวพันด้วยเสมอมา ไม่เว้นแม้แต่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ที่ข่านออกมาประกาศว่า เขาและกองทัพอยู่ฝั่งเดียวกัน อย่างไรก็ตาม

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างปากกีสถานและชาติต่าง ๆ ดูเหมือนจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาท่าทีของปากีสถาน ถูกมองว่า มีความใกล้ชิดกับกลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถาน แม้ว่าทางปากีสถานจะปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มตาลิบัน ในการต่อสู้กับสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานก็ตาม แต่ข่าน ก็มีการเอ่ยถึงปัญหาในอัฟกานิสถานว่า สหรัฐฯ คือต้นเหตุของปัญหา

นอกจากนี้ ในการไปพบปะกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงที่รัสเซียจะเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ยังทำให้ข่าน ถูกเพ่งเล็งในประเด็นนี้ด้วย และเมื่อปากีสถานแสดงท่าที ไม่ประณามการกระทำของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยิ่งกลายเป็นประเด็นในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

และในช่วงที่ผ่านมา ข่านก็ยังคงกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการโค่นล้มตนเองลงจากตำแหน่ง และตนเองเป็นเหยื่อจากความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปากีสถาน

เสียงสนับสนุนยังมีอยู่

แม้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ จะจบลงด้วยการที่ข่าน ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง แต่กลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนข่าน ก็ยังคงมีอยู่อีกไม่น้อย และได้ออกมารวมตัวกันเรียกร้องให้ข่านกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง เนื่องจากมองว่า ที่ผ่านมาจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปี ก่อนที่ข่านจะรับตำแหน่งในนายกฯ เสียอีก รวมถึงวิกฤติโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัญหาที่กระทบเช่นเดียวกันทั่วโลก

นอกจากนี้ ท่าทีของข่าน ต่ออินเดียในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางการกระทบกระทั่งกันเป็นระยะ ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มีท่าทีที่ดีขึ้น ผ่านทางช่องทางการทูตระหว่างกัน จึงทำให้ข่าน ได้รับคำชื่นชมถึงความเป็นผู้นำอยู่ไม่น้อย

มีผู้นับสนุนอิมราน ข่านจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่เป็นเกมที่มีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง เพื่อต้องการแทรกแซงการเมืองในปากีสถานด้วย


ข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง