หลังจากนิคมอุตสาหกรรมบางปู จมอยู่ใต้น้ำถึง 2 วัน จนสร้างความเสียหายจำนวนมาก เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามว่า นิคมอุตสาหกรรมควรจะเป็นพื้นที่ที่ออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมไว้อย่างดีที่สุด ทำไมถึงเกิดเหตุนี้ขึ้นได้
รถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมาก ถูกน้ำท่วมเกือบ มิดคัน หลังจากฝนตกลงมาอย่างหนัก จนนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งด้านนอกและเขตส่งออก ถูกน้ำท่วมสูง 1 เมตร รุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี
กรมชลประทานชี้แจงปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในนิคมว่า เกิดจากปริมาณฝนที่ตกกระหน่ำวันเดียว 200 มิลลิเมตร ต่อวัน ขณะที่การระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ เพียงอย่างเดียวในวันแรก ทำได้ล่าช้า เพราะสมุทรปราการติดกับปากอ่าว ประตูระบายจำเป็นต้องปิดเพื่อกั้นน้ำเค็ม ไม่ให้รุกเข้ามายังสถานีสูบน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปูเป็นวงกว้าง จนหลายโรงงานได้รับผลกระทบ ทรัพย์สินพนักงานได้รับความเสียหาย
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับข้อมูลในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ว่า ในรายงานระบุว่าจะใช้งบประมาณ 970 ล้านบาท ป้องกันน้ำท่วม ด้วยการสร้างระบบเขื่อนเป็นคันดินสูง ล้อมรอบพื้นที่โครงการ โดยทำเป็นคันดินยาวประมาณ 17.10 กิโลกเมตร บางจุดมีลักษณะเป็นกำแพงเสริมคอนกรีต สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกเข้ามาท่วมสูงสุดได้ในรอบ 70 ปี ส่วนระบบระบายน้ำฝนภายในนิคมฯ จะแยกออกจากระบบรวบรวมน้ำเสีย มีสถานีสูบน้ำลงสู่คลองโดยรอบ 14 สถานี คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 7 หมื่น 8 พัน 432 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และมีบ่อหน่วงน้ำ 11 บ่อ ที่มีความจุกักน้ำฝนได้รวม 8 หมื่น 3 พัน 900 ลูกบาศก์เมตร มีลำรางระบายน้ำฝน ขนาด 2 แสน 7 หมื่น 4 พัน 76 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถชะลอน้ำฝนเก็บไว้ในโครงการได้
จึงสรุปได้ว่า ระบบบ่อหน่วงน้ำฝนในนิคมอุตสาหกรรม บางปู จะสามารถรองรับน้ำฝนได้อย่างเพียงพอ ต่อให้ ในกรณีเลวร้าย โดยคิดปริมาณน้ำจากกรณีที่ฝนตกหนัก ในรอบ 70 ปี ทางนิคมบางปู จึงเสนอไว้ในรายงานว่า ในช่วงฝนตกหนัก จะไม่มีการระบายน้ำออกนอกนิคมฯ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ชุมชนโดยรอบ
นายสนธิ วิเคราะห์ว่า ที่นิคมฯเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก เพราะบ่อหน่วงน้ำ เก็บน้ำไว้ได้ไม่เพียงพอ , เขื่อนคันดินโดยรอบนิคมฯ กลายเป็นกำแพง กันไม่ให้น้ำไหลออกไปข้างนอก , ส่วนลำคลองหลังนิคมฯ ถูกถมเป็นถนน จนสุดท้าย ต้องสูบน้ำลงคลองโดยรอบ จนน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชน