พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่เกิดขึ้นที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ โดยระบุข้อความไว้ว่า
“อับอาย อัปยศ อดสู…
สุดที่จะพรรณนากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายตำรวจระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานีใหญ่แห่งหนึ่งนำทีมกระทำต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด ด้วยการทรมานทรกรรม โดยวิธีการนำถุงดำมาครอบศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ หายใจไม่ออก ทรมาน จะเพื่อให้รับสารภาพโดยหวังผลในทางคดีหรือเป็นการรีดเอาทรัพย์ 2 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวก็ตามทีเถอะ!!!!
ซึ่งนั่นมันเป็นวิธีการสมัยโบราณ เป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราที่ยังใช้กฎหมายจารีตนครบาล ให้นำการทรมานทรกรรมด้วยรูปแบบต่าง ๆ มาใช้กับผู้ต้องหาเพื่อค้นหาความจริงด้วยการใช้วิธีการต่าง ๆ … บีบขมับด้วยเครื่องบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ไปในลูกตะกร้อให้ช้างเตะ … จะพิสูจน์ว่าคนใดพูดความเท็จ คนใดพูดความจริง ใช้วิธีดำน้ำแข่งกันใครอึดกว่าโผล่พ้นน้ำทีหลังคนนั้นพูดความจริง วิธีการทั้งหมดทำถูกต้องตามที่กฎหมายในขณะนั้นบัญญัติ ผู้กำกับการคนนี้กับบรรดาลูกน้องที่ร่วมทีม น่าจะเกิดเป็นตำรวจในยุคนั้นถึงได้นำวิธีการทรมานทรกรรมตามกฎหมายจารีตนครบาลกลับมาใช้ในชาตินี้ กลับมาเกิดใหม่ทั้งทีน่าจะนำเรื่องดี ๆ มาใช้ในชาติใหม่นี้…..
รู้หรือไม่ว่า ด้วยการใช้วิธีการที่ป่าเถื่อน ล้าสมัยไร้เหตุผล ขาดตรรกะด้วยวิธีการดังกล่าว จนทำให้ชนชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมที่เข้ามาในประเทศสยาม อ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย โดยได้ตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีความของพวกตนเองขึ้นในแผ่นดินสยาม ไม่ยอมขึ้นศาลไทยเราเรียกกันว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไงล่ะ …. งั้นก็แปลว่าสยามประเทศได้สูญเสียอำนาจ 1 ใน 3 คือ อำนาจตุลาการไปแล้วโดยปริยาย คงเหลืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร คงค่อย ๆ คืบคลานปฏิเสธไม่ยอมรับ หากครบสามอำนาจเมื่อใดสยามประเทศก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นโดยทันที(เรื่องนี้ถึงขนาดจะทำให้เสียเมืองเชียวละ)
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ พระบารมี ของพระบูรพกษัตริย์สืบต่อกันมาหลายพระองค์ได้ทำการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย กล่าวเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจได้เร่งทำการปฏิรูปเพื่อให้ชาวต่างชาติยอมรับให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กลับมายอมรับกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจของสยามประเทศ จึงได้มีการปฏิรูปตำรวจเสร็จภายใน 1 ปี ระหว่างปี พ.ศ 2404 ถึง 2405 โดยมีเจ้าพระยายมราช(ครุฑ บ่วงราบ) เป็นแม่กองในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจึงได้รับการถวายพระนามว่า “พระบิดาแห่งตำรวจไทย” ทำการปฏิรูปกฎหมายเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมี กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นแม่กอง เราจึงมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ประกาศใช้ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศสยาม โดยให้ยกเลิกกฎหมายจารีตนครบาลซึ่งเมื่อตำรวจมีความทันสมัย กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายมีความทันสมัย วิธีการค้นหาความจริงด้วยพยานหลักฐานใช้ตรรกะวิทยา วิชาที่ว่าด้วยเหตุผล การชั่งน้ำหนักพยาน เลิกการใช้วิธีบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ เอาถุงดำคลุมศีรษะ จิปาถะที่เป็นการทรมานทรกรรมไปเสียสิ้นแล้ว ชาวต่างชาติจึงไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมต่อไปอีก จึงยอมคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมายอมขึ้นศาลไทย มันสำคัญถึงขนาดจะเสียบ้านเสียเมืองกันเชียวนะ!!
ชาวต่างชาติปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าคนไทยด้วยกันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพในอาณาเขต”ขึ้นละ จากเหตุกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของ… ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือของ… ขาดความเป็นอิสระ เล่นพรรคเล่นพวก เข้าไม่ถึง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้…. แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ จะยังไม่ยอมปฏิรูปตำรวจให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วอีกหรือ การปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เวลาในการปฏิรูปตำรวจเพียงปีเดียวแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 260 บทบัญญัติให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี เช่นเดียวกันแต่นี่เข้ามา 3-4 ปีแล้วยังไม่มีวี่แวว จะรอให้เกิดสิทธิสภาพในอาณาเขตกันขึ้นจริง ๆ หรืออย่างไร? วานบอก
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระผมขอความเป็นธรรมให้กับบรรดาข้าราชการตำรวจ เป็นเรื่องความประพฤติ พฤติกรรมส่วนบุคคล ผมเรียนจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ไม่เคยสั่งสอนพันอย่างนี้ จบออกมาปฏิบัติหน้าที่จนเกษียณอายุราชการ ไม่เคยประพฤติ ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นการกระทำเยี่ยงนี้ ระหว่างรับราชการเป็นครูบาอาจารย์ก็ไม่เคยสั่งสอนใครให้ทำอย่างนี้ แต่ยอมรับความจริงว่า “ปลาตายตัวเดียวย่อมทำให้เหม็นไปทั้งข้อง” ถ้าได้ปฏิรูปตำรวจปัญหานี้จะแก้ไขได้โดยไม่ยาก ในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกำหนดให้มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนตำรวจ เรียกย่อว่า กร.ตร. ซึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาตรวจสอบความประพฤติ พฤติกรรมของข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องเรียน ญาติผู้เสียชีวิตก็จะกล้าร้องเรียนแทนที่จะไปร้องกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจเองให้ตรวจสอบกันเอง เป็นอาทิ
“กัมมุนา วัตตติ โลโก.” สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม 25 สิงหาคม 2564 “