นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (Covid19) ทำให้สถานศึกษาหลายพื้นที่ปรับรูปแบบการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยโปรแกรมต่างๆ โดยใช้ อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเด็กต้องดูหน้าจอเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันพบว่า การใช้อุปกรณ์ต่อเนื่องเป็นเวลานานเกิดผลกระทบกับสายตาเด็กพอสมควร เช่น เกิดภาวะตาล้า (Digital eye strain) เด็กมีอาการปวดตา แสบตา ตาแห้ง บางรายปวดศรีษะร่วมด้วย ในบางรายเกิดภาวะสายตาสั้นเทียมอันเกิดจากการเพ่งมองในระยะใกล้อยู่นาน มีการค้างของค่าสายตาสั้นชั่วขณะ ทำให้เด็กบอกมองไกลไม่ชัด หลังใช้อุปกรณ์ ในบางรายมีอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อตา เช่น ปวดกระบอกตา และกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติได้
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการเหมาะสม
ในการใช้สายตาสำหรับการเรียนออนไลน์ คือ เว้นระยะห่างจากหน้าจอให้เหมาะสม เมื่อใช้อุปกรณ์ควรกระพริบตาให้บ่อยขึ้น มีการพักสายตาด้วยหลักการ 20-20-20 คือ เมื่อใช้สายตามองใกล้ติดต่อกัน 20 นาที ควรพักสายตาประมาณ 20 วินาที ด้วยการมองไปที่ระยะห่าง 20 ฟุต (6 เมตร) เพื่อเป็นการพักสายตา แล้วกลับมาใช้สายตาใหม่ได้ นอกจากนี้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรมีไฟห้องที่สว่างเพียงพอ ลดแสงจากหน้าจอให้เหมาะสม เพิ่มขนาดตัวอักษร เด็กที่มีสายตาสั้นอยู่เดิม ควรเพิ่มกิจกรรมนอกบ้าน หรือเพิ่มการมองระยะไกลบ้างตามสมควร นอกจากนี้ ผู้ปกครองและลูกควรช่วยกันตั้งเป้าหมายในการทำกิจกรรม มีตารางเวลาในการเรียน การพัก และการได้คุย ได้เล่นกับคนรอบข้าง เพื่อเป็นการพักสายตาจากหน้าจอได้เป็นอย่างดี และลดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ได้