คัดลอก URL แล้ว
กลุ่มร้านนวดยื่นฟ้องแพ่ง เอาผิดรัฐบาล 17 ส.ค. นี้

กลุ่มร้านนวดยื่นฟ้องแพ่ง เอาผิดรัฐบาล 17 ส.ค. นี้

ผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพ นำโดย นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย และนางอักษิกา จันทรวินิจ เจ้าของกิจการธรรญานวดเพื่อสุขภาพ เป็นโจทก์ร่วมฟ้องร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการสปาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม รวมตัวร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการโควิดของรัฐบาล

โดยนางอักษิกาได้กล่าวถึง สาเหตุที่ต้องเดินทางมาขอความเป็นธรรมจากศาล เนื่องจาก ที่ผ่านมาเจ้าของร้านได้เรียกร้องไปหลายหน่วยงาน โดยพยายามแสดงจุดยืนด้านการทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และยื่นหนังสือถึงหลายกระทรวงเรื่องการประเมินความหมาย “สถานที่เสี่ยง” อย่างไม่เป็นธรรม ขณะนี้ หลายกิจการมีผู้ป่วยโควิดและยังได้รับอนุญาตให้เปิด บางกิจการสามารถทำได้ได้ปกติ ในขณะที่ร้านนวดไม่เคยปรากฎเป็นคลัสเตอร์ แต่โดนสั่งให้ปิดแบบเหมาเข่งมาโดยตลอด .. อีกทั้งเป็นการสั่งปิดที่รัฐไม่มีมาตรการองรับ ไม่เคยมีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ ผู้ประกอบการเหมือนโดนบีบอยู่ด้านเดียวมาตลอดให้เอาทรัพย์สมบัติที่มีมาขายเพื่อประคองธุรกิจให้รัฐบาลมาตลอด 18 เดือน ตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก มี.ค. 63

โดยการฟ้องในครั้งนี้ มีนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นตัวกลาง ยื่นฟ้องแพ่งแบบรวมกลุ่มหรือ Class Action ทั้งในส่วนของการบริหารวัคซีนผิดพลาด การบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขที่ล้มเหลว การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ล่าช้า และส่วนของผู้ประกอบการที่รัฐสั่งให้หยุดงานโดยไม่มีคำสั่งให้หยุดค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว อยู่ในภาวะล้มละลาย ทรัพย์สินที่หามาได้ตั้งมาขายเพื่อให้มีชีวิตรอด

ด้าน นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า ตนเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายตั้งแต่ ปี 63 เดิม ร้านจารวีเปิดรองรับลูกค้าต่างชาติกลุ่มทัวร์ พอถึงวันปิดประเทศ​รายได้เป็น 0 นักท่องเที่ยวไม่มี ต้องปิดกิจการสูญเสียหลักล้าน แต่ไม่เคยมีภาครัฐออกมาร่วมรับผิดชอบสักครั้ง อีกทั้ง สมาคมยังรับฟังเรื่องราวจากผู้ประกอบการที่ทนทุกข์จากการไม่ได้ทำงานและยังไม่มีทางออกใดๆ หลายคนตัดสินใจจบชีวิตไปแล้วจากความอัดอั้น วันนี้จึงต้องเลือกการมาที่ศาล เพราะที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือไปหลายหน่วยงานและไม่ได้รับการตอบกลับ แม้แต่โทรศัพท์ยังโทร.ไม่ติด

ขณะนี้ทางกลุ่มได้รวบรวมค่าเสียหายที่ผู้ประกอบการเขียนมาตามจริง คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายโดยประกอบกิจการไม่ได้จากคำสั่งปิดของรัฐ ทั้งหมดมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการร่วมยื่นคำร้องกว่า 100 ราย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง