คัดลอก URL แล้ว
“รังสิมันต์ โรม” ห่วง หลังจนท. ใช้ “แก๊สน้ำตา – กระสุนยาง” เป็น “มาตรฐานปกติ” ทำร้ายปชช.เพื่อทำลายสิทธิเสรีภาพ

“รังสิมันต์ โรม” ห่วง หลังจนท. ใช้ “แก๊สน้ำตา – กระสุนยาง” เป็น “มาตรฐานปกติ” ทำร้ายปชช.เพื่อทำลายสิทธิเสรีภาพ

วันนี้ (8 ส.ค. 64) ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความเห็นต่อมาตรการสลายการชุมนุมและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ,ความเห็นต่อกรณีศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ประกาศฉบับ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการบังคับใช้ และข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ที่มีความเร่งรัดและไม่เป็นไปตามหลักการรัฐสภา

ทั้งนี้ รังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลรู้สึกผิดหวังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมการชุมนุมของประชาชนด้วยความรุนแรงและกังวลว่าความรุนแรงแบบนี้จะขยายตัวไปเรื่อยๆ จากที่ได้ติดตามมาตลอดพบว่าความรุนแรงของการควบคุมการชุมนุมมีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อนหน้านี้การฉีดน้ำแรงดันสูงหรือยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมยังไม่มากขนาดนี้ และการใช้กระสุนยางยิ่งไม่บ่อยนัก แต่ช่วงที่ผ่านมา การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางกับผู้ชุมนุมเหมือนกลายเป็นมาตรฐานการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ไปเสียแล้ว

“เมื่อวานช่วงเที่ยง มีหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหวว่า มีการใช้กระสุนยางกับคนในบริเวณนั้นซึ่งอาจแค่มารอการชุมนุมที่จะมีขึ้นในตอนบ่ายโมง คือยังไม่ทันทำอะไร แค่มารอและคนยังเบาบาง แต่กลับมีการควบคุมสถานการณ์และบีบพื้นที่เข้ามา ธรรมชาติของการชุมนุมที่มีคนหลายพันคน อาจมีคนหลายประเภทในนั้น จริงอยู่ว่าที่อาจมีบ้างที่เตรียมอุปกรณอย่างหนังสะติ๊กมาเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ แต่ก็มีคนจำนวนมากเช่นกันที่มีแค่กระดาษเพื่อมาเรียกร้องต่อรัฐบาลในความเดือดร้อนของเขาอย่างสันติ การใช้ความรุนแรงในการจัดการจึงทำให้เสียงของเขาเหล่านี้หายไปด้วยเช่นกัน”

รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนได้ไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดบริเวณดินแดง เชื่อว่าภายในหนึ่งนาที มีการยิงแก๊สน้ำตาไม่ต่ำกว่า 3 ลูก จำนวนหนึ่งไปตกอยู่บริเวณบ้านเรือนใกล้เคียงที่ชุมนุมและปั๊มน้ำมัน สะท้อนว่าเป็นการยิงดะโดยไม่สนว่าผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์รุนแรงหรือไม่ ทั้งนี้ ตามมาตรฐานในการควบคุมการชุมนุมที่ควรเป็น อุปกรณ์เหล่านี้ควรใช้กับต่อกรณีที่เผชิญกับพฤติการณ์รุนแรงจริงๆ เช่น มีการฝ่าไปจะทำร้ายเข้าหน้าที่ แต่การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นคือการใช้เพื่อทำลายการชุมนุมซึ่งเป็นเสรีภาพประชาชน ขอย้ำว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหาในกรณีที่ประชาชนออกมาเรียกร้องเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากรัฐบาล ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการตอบโต้ด้วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด หรือไม่การลาออกก็เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการแก้วิกฤตการเมืองได้ อย่าใช้เจ้าหน้าที่เป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชน เพราะเรารู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ถูกฝึกในการรับมือสถานการณ์อย่างถูกต้องมาแล้ว เราอยากเห็นความอดกลั้น ซึ่งในส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็พอเห็นความพยายามอยู่ แต่ในส่วนผู้อยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจตัดสินใจก็มีคำถามว่าเหมือนจะต้องการให้บานปลายหรือไม่

ประเด็นที่สอง การออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่อนุญาตให้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ล่าสุด ศาลแพ่งได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่มีประเด็นสำคัญสองประเด็น คือ หนึ่ง การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเกินความจำเป็นต่อสถานการณ์ สอง คือการไม่มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ตัดอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น ในสัปดาหหน้า พรรคก้าวไกลจะรวบรวมหลักฐานเพื่อทำคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช.) ตาม มาตรา 234 อนุ 1 ตามรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยรายละเอียดของมาตรานี้ว่าด้วย ปปช. มีหน้าที่และอํานาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดที่ศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังมีความผิดในเรื่องจริยธรรม เช่น ข้อที่ 7 ต้องถือผลประโยชน์ประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการห้ามกระทั่งการเผยแพร่ข่าวจริงจึงเป็นการกระทำที่อาจจะเกินเลยกว่าผลประโยชน์ของชาติ หรือข้อที่ 12 จะ ต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ รังสิมันต์ กล่าวว่า หาก ปปช.วินิฉัยว่ามีมูล จะต้องดำเนินต่อตาม มาตรา 235 หากเป็นการผิดจริยธรรมร้ายแรงต้องส่งต่อเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่หากผิดจริยธรรมไม่ร้ายแรงต้องส่งต่อไปยังอัยการสูงสุดเพื่อส่งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากมีการรับเรื่องไว้พิจารณา พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

ประเด็นที่สาม ความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รังสิมันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา 13 ฉบับ ปรากฏว่า
มีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านการรับหลักการของสภาในวาระที่ 1 คือ ร่างที่เสนอมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งระบุในหลักการอย่างชัดเจนว่า เพื่อแก้ 83 และ 91 โดยทั้งสองมาตราไม่ใช่การแก้เรื่องระบบเลือกตั้งทั้งหมด

“ปรากฏว่าในกระบวนการพิจารณาชั้น กมธ. ผมซึ่งอยู่ในกมธ.ด้วย สังเกตว่ามีความพยายามเร่งรัดเพื่อแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ. ต้องการพิจารณาให้เสร็จในสัปดาห์นี้ ในสถานการณ์โควิดที่ประชาชนกำลังลำบากกลับไม่พบว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้รฐธรรมนูญได้เลย ทั้งที่เรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งก็คือการกำหนดว่าเขาจะได้รัฐบาลแบบไหนมาบริหาร ประชาชนก็ควรมีสิทธิ มีปากมีเสียงในการแสดงความเห็นว่าเขาต้องการเห็นระบบอะไร เราเห็นแต่การรวบรัดโดยไม่สนใจขั้นตอนปฏิบัติ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่คนไม่กี่คนมาสุมหัวกันโดยประชาชนไม่มีสิทธิอะไร ที่สำคัญก็คือคนที่แก้ต้องการให้ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกับ ร่างที่สภามีมติไม่รับหลักการไปแล้ว หากเป็นแบบนี้กลไกสภาและสิทธิประชาชนอยู่ตรงไหน จึงอยากให้จับตาว่ารัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไรต่อไป เพราะในสัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์ของการแก้รัฐธรรมนูญ”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง