คัดลอก URL แล้ว
เหอหนาน ประเทศจีน น้ำท่วมต้องระเบิดเขื่อน แล้วแม่น้ำโขงไทยจะท่วมด้วยมั้ย?

เหอหนาน ประเทศจีน น้ำท่วมต้องระเบิดเขื่อน แล้วแม่น้ำโขงไทยจะท่วมด้วยมั้ย?

เหตุการณ์น้ำท่วมหนักในเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของประเทศจีน เมื่อ 3 วันก่อนทำให้จีนต้องระเบิดเขื่อนในเมืองลั่วหยาง เพื่อเปลี่ยนทางน้ำไม่ให้มาเพิ่มในเมืองเจิ้งโจว เนื่องจากน้ำท่วมหนักครั้งนี้หนักเป็นประวัติการณ์ในท้องถิ่นชาวจีนเรียกว่าเป็นฝนพันปี เพราะปริมาณฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตรใน 24 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำเหลืองเอ่อล้นท่วมอย่างรวดเร็ว เมื่อข่าวว่าจีนระเบิดเขื่อนมีหลายๆคนมาโพสต์แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก บางคนก็ว่า ภาคอีสานบ้านเราแม่น้ำโขงในไทยก็เตรียมตัวรับน้ำท่วมได้เลย

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้หากดูแผนที่ต้นกำเนิดแม่น้ำโขง และ แม่น้ำเหลือง(ที่ท่วมเมืองเจิ้งโจว) จะเห็นว่ามีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีนเหมือนกัน แต่เส้นทางน้ำไปต่างทิศทางกัน

แม่น้ำเหลือง หรือ แม่น้ำหวางเหอ หรือ แม่น้ำฮวงโห เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีน รองจากแม่น้ำแยงซี และเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ 6 ของโลก มีความยาว 5,464 กิโลเมตร (ยาวกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 15 เท่า) ไหลจากฝั่งตะวันตกมาทางตะวันออก ผ่านมณฑลชิงไห่, เสฉวน, กานซู, หนิงเซี่ย, มองโกเลียใน, ส่านซี, ซานซี, เหอหนาน และออกสู่อ่าว ปั๋วไห่ ในมณฑลซานตงเชื่อมต่อทะเลเหลือง น้ำในแม่น้ำหวางเหอ เป็นสีเหลืองเนื่องจากมีตะกอนดินทรายพัดพามาจากทิศตะวันตก ซึ่งเหมาะในการเพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำ แต่ในหน้าน้ำหลากก็เกิดอุทกภัยหลายครั้งซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมากมายมหาศาล จึงได้รับฉายาว่า “แม่น้ำวิปโยค”

ส่วนแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร
สรุปได้ว่าน้ำท่วมที่มณฑลเหอหนาน และการเบิดเขื่อน ไม่กระทบกับแม่น้ำโขงแน่นอน

ส่วนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่จีนดำเนินการขณะนี้เป็น”เขื่อนขั้นบันได โขงตอนบน” Lancang cascade เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 1996 ที่มณฑลยูนนาน ปัจจุบันมี 11 เขื่อน (ตามภาพด้านขวา) ที่ผ่านมายังเป็นข้อพิพาทกับประเทศริมน้ำโขงเพราะจีนอ้างว่าไม่ได้กักน้ำแต่ไม่เคยบอกปริมาณน้ำที่เก็บไว้ ล่าสุด 9 มิถุนายน 2564 จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง ที่เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม Joint Statement on Enhancing Sustainable Development Cooperation of the Lancang-Mekong Countries โดยมีเนื้อหา 10 ข้อ อาทิความร่วมมือในการพัฒนาประเทศในลุ่มน้ำโขง ตระหนักถึงความสำคัญในธรรมาภิบาลทรัพยากรน้ำ แผนปฎิบัติการ 5 ปีความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง (2018-2022) (Five-Year Action Plan on Lancang-Mekong Water Resources Cooperation) โดยจีนยอมที่จะให้ข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำตลอดทั้งปี และเพิ่มการระบายน้ำตามที่ประเทศท้ายน้ำร้องขอ จากนี้ยังต้องติดตามพันธสัญญานี้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขณะนี้ต้องเฝ้าระวังพายุดีเปรสชัน “เจิมปากา” ที่ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งขณะนี้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง