“ยิ่งเร็ว ยิ่งเสี่ยง” ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ที่เครือข่ายทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และการชนบนถนนในไทย พยายามสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก เพราะแต่ละปีคนไทยต้องสังเวยชีวิต บนท้องถนนเยอะมาก ตัวเลขยังคงสูงเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย ขณะที่ยอดบาดเจ็บพุ่งทะลุไปกว่า 1 ล้านรายเลยทีเดียว!
ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง “กำหนดเส้นทางให้ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน” โดยใช้ความเร็วขับรถเลนขวาขั้นต่ำ 100 กม./ชม. เริ่ม 1 เม.ย. 2564 ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน- พยุหะคีรี (ถนนสายเอเชีย ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร จากที่ได้มีการประกาศกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราความเร็วใหม่ที่ขับได้สูงสุด 120 กม./ชม. เลนขวาห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม. ไปแล้วก่อนหน้านี้นั้น
หวั่นสงกรานต์ 64 หยุดยาว 9 วันทำตายพุ่ง!
‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงแสนสาหัส ที่ทำให้เครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุกังวลใจ แม้ในรายละเอียดจะกำหนดหลักเกณฑ์และเส้นทางเฉพาะ แต่เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนพากันเหยียบ 120 ไปก่อนแล้ว
โดยเฉพาะเริ่มมีผลบังคับใช้ ก่อนช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันนานหลายวัน จาก 7 วันอันตราย เพิ่มขึ้นเป็น 9 วันอันตราย ในปีนี้ไม่รู้ว่าจะตายกันเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เนื่องจากการขับรถทางไกลและขับท่องเที่ยว ผู้ขับขี่จะรู้สึกเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ และหากพักผ่อนไม่เพียงพอยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น เราทุกคนต้องขับไม่ประมาทและมีสติอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญขอให้ลดใช้ความเร็วลงสักนิดจะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น
ย้ำ “ขับเร็ว” ต้นตอความสูญเสีย!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูล “ความเร็ว: พญามัจจุราชที่เหี้ยมโหดที่สุดบนท้องถนน” ระบุว่า “การขับรถเร็ว” คือสาเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากยิ่งขับเร็วความรุนแรงยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
- ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. แรงกระแทกเท่ากับตกตึก 19 ชั้น
- ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. แรงกระแทกเท่ากับตกตึก 13 ชั้น
- ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. แรงกระแทกเท่ากับตกตึก 8 ชั้น
- ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. แรงกระแทกเท่ากับตกตึก 6 ชั้น
ยิ่งขับเร็วยิ่งต้องใช้ระยะทางที่มากขึ้น ในการเบรกจนรถจอดสนิท
- ที่ความเร็ว 110 กม./ชม. ระยะเบรกเท่ากับ 216 เมตร
- ที่ความเร็ว 90 กม./ชม. ระยะเบรกเท่ากับ 156 เมตร
- ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. ระยะเบรกเท่ากับ 130 เมตร
- ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรกเท่ากับ 84 เมตร
- ที่ความเร็ว 40 กม./ชม. ระยะเบรกเท่ากับ 47 เมตร
“ถนนในเมืองไทยแทบทุกสาย ไม่ได้ออกแบบให้สามารถขับรถที่ความเร็วสูง เนื่องจากแทบทั้งหมดจะต้องมีจุดกลับรถ มีถนนย่อยเข้ามาเชื่อมถนนใหญ่ มีสี่แยกถนนหลวงตัดผ่านชุมชน มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทาง มีเด็กนักเรียนเดินข้ามถนนไปโรงเรียน มีคนแก่ข้ามถนนไปวัด มีผู้ใหญ่ข้ามถนนไปตลาด ไปทำงาน มีร้านค้าขายของริมทาง มีรถจอดซื้อของข้างทาง บางครั้งถึงขั้นจอดซ้อนคัน ที่สำคัญมีรถความเร็วแตกต่างกันวิ่งอยู่บนถนนเดียวกัน” นพ.วิทยา กล่าว
ห่วงขับเร็วเพิ่ม 20 กม./ชม. ยอดตายอาจพุ่ง 100%
ด้าน ‘ณัฐพงศ์ บุญตอบ’ นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า ผลวิจัยของประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าการลดความเร็วเพียง 10% สามารถลดอัตรการตายเกือบครึ่งหนึ่ง แต่กลับกันหากเพิ่มความเร็วเท่ากันที่ 10% อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นถึง 50% เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเพิ่มความเร็วจาก 100 เป็น 120 กม./ชม. อาจทำให้อัตราการเสียชีวิตบนถนนไทย เพิ่มขึ้นถึง 100% แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการชนด้วย
นักวิจัยอาวุโสมูลนิธิไทยโรดส์ มองว่า หลังราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะ บนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท พ.ศ. 2564 ไปแล้วนั้น น้อยคนนักที่จะเข้าไปอ่านรายละเอียด ว่าอัตราความเร็วในเลนขวาที่วิ่งได้สูงสุด 120 กม./ชม. และห้ามต่ำกว่า 100 กม./ชม. แท้จริงแล้วกำหนดใช้กับรถยนต์ประเภทใดบาง กำหนดวิ่งได้บนถนนเส้นไหนและในระยะทางกี่กิโลเมตร
ทั้งนี้ เงื่อนไขของประกาศนี้ 4 ข้อ กำหนดว่าถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ได้นั้น ต้องประกอบด้วย
- ช่องจราจรมี 4 ช่องขึ้นไป (ไปสอง-กลับสอง)
- เกาะกลางถนนต้องมีชัดเจน รถไม่สามารถวิ่งข้ามผ่านตัดกระแสไปได้
- ต้องเป็นถนนทางตรงห้ามมีจุดกลับรถ
- เป็นเส้นทางที่ประกาศโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งปัจจุบันทั้งสองหน่วยงานกำลังรวบรวมเส้นทาง