เมื่อ “โคราชมหานคร” ปรับรูปแบบการทำงาน ลุยสร้างความปลอดภัยทางถนน ถึงระดับตำบล ยก อ.พิมาย เป็นตัวอย่างสร้างทีมงานเสริมกำลังศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ โดยเปิดให้หน่วยราชการเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมใช้ข้อมูลความเสี่ยงและจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละจุด เสนอหน่วยงานปรับแก้ลดความเสี่ยง รวมทั้งเสริมสร้างการเรียนการสอนพร้อมปรับทัศนคติ พฤติกรรมของผู้ปกครองปลูกฝังวินัยจราจร ให้เด็กเล็ก 8 แห่งใน ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ปัจจุบัน “นครราชสีมา” มีพื้นที่ใหญ่สุดในไทย มีจำนวนประชากรกว่า 6 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นประตูสู่ภาคอีสาน ทำให้มีปริมาณการสัญจรหนาแน่น ซึ่งสถิติผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยปีละกว่า 2 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตปีละ 50-70 รายต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 2 ราย ขณะที่พื้นที่ใน อ.พิมาย ซึ่งเป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีประชากรร่วม 2 หมื่นคน ครอบคลุมพื้นที่ 156 ตารางกิโลเมตร มีจำนวน 12 ตำบล 213 หมู่บ้าน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 8 ศูนย์ มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.7 โรง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง ลักษณะทางกายภาพของอำเภอเชื่อมกับถนนสายหลัก 3 สาย มีโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเกลือ โรงงานผลิตแป้งมัน จึงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นางเปรมปรีดิ์ ชวนะนรเศรษฐ์ หัวหน้า สอจร.อีสานตอนล่าง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางนครราชสีมาได้มีกลยุทธ์และกระบวนการจัดการปัญหา พร้อมทั้งมีการพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่งปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนากลไกในระดับอำเภอและท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นในหลายพื้นที่ได้รับเป็นพื้นที่ตัวอย่าง จนเป็นที่สนใจและสถานที่ศึกษาดูงาน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ จ.นครราชสีมา สามารถลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้แล้วเกือบ 200 รายต่อปี
เผยปี 63 อ.พิมาย อุบัติเหตุทางถนนพุ่งสูง!
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น พบว่าในปี 2563 เกิดขึ้นสูงกว่าปีอื่นๆ เพราะมีอุบัติเหตุหมู่เกิดหลายครั้ง แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิต 3-5 ราย เหตุเพราะถนนเป็นลักษณะ 2 เลน ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วค่อนข้างสูงในการสัญจร ทำให้เกิดเหตุกับ “รถจักรยานยนต์” เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นรถเก๋งและรถปิกอัพ
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ อ.พิมาย จึงสร้างคณะทำงานหลักเสริมการทำงาน ของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ มีนายอำเภอพิมายเป็นประธาน มีทีมเลขาฯ มาจากตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และป้องกันบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เสนอแผนเข้าศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ขึ้นไปสู่ระดับจังหวัดตามลำดับ จนสามารถส่งต่อเรื่องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหาได้เร็วกว่าเดิม
สสส. สนับสนุนงบ คัดเลือกพื้นที่ต้นแบบปลูกฝังวินัยจราจร – แก้จุดเสี่ยง
โดยเมื่อปี 2562 ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) จนมีการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการทำงาน ได้เลือก ต.โบสถ์ เป็นพื้นที่ทำงาน โดยพิจารณาจากสถิติผู้เสียชีวิตบนถนน มีเส้นทางสายหลักที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบอบรมวินัยจราจร ในพื้นที่ ต.หนองจิก
นอกจากนี้ อ.พิมาย ยังตั้งเป้าทำมาตรการองค์กรลดอุบัติเหตุกับ โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเกลือ และโรงงานผลิตแป้งมัน โดยส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เห็นได้จากสภาพถนนหน้าโรงงานผลิตเกลือ ที่เคยมีเกาะกลางถนนเป็นเกาะสี ทำให้เกิดเหตุบ่อยครั้ง คณะทำงานได้ “ชง” ข้อมูลให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จนมีการปรับปรุงเป็นเกราะกลางถนนจริง สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้อย่างชัดเจน หรือบางจุดเดิมไม่เคยอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้สัญญาณไฟจราจร เมื่อทำข้อมูลอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต 2 ปีติดต่อกัน ส่งให้แขวงทางหลวง จึงมีการจัดหางบประมาณมาติดตั้งสัญญาณไฟได้ในที่สุด
วางเป้าหมายขับเคลื่อนท้องถิ่น มุ่งสร้าง “โคราชเมืองปลอดภัย”
นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อุบัติเหตุในพื้นที่ส่วนใหญ่เกิดบนถนนทางหลวงแผ่นดิน จากสถิติดังกล่าวทำให้จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มความเข้มข้นในการจัดการปัญหา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน กระทั่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สอจร. มาพัฒนากลไกในการทำงานทั้ง 32 อำเภอ ที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็ง โดยในปี 2564 จังหวัดมีเป้าหมายขับเคลื่อนงานผ่านศูนย์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอยู่ใกล้กับชุมชนและชาวบ้านมากที่สุด สามารถผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างจริงจัง และทำให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น