สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถอดบทเรียนระบบกล้องอัตโนมัติ 3 จังหวัด เพื่อระดมความคิดเห็นและแนวทางในการยกระดับความสำเร็จ นำไปสู่การขยายผลและผลักดันเชิงนโยบายทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอุบัติเหตุและการชนบนถนนไทย ในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การนำเทคโนโลยีตรวจจับผู้กระทำผิด มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพตรวจจับและบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดแรงปะทะ ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร อีกทั้งยังช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่ ให้ปฎิบัติตามกฎหมายจราจรมากขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ความเร็ว ฝ่าไฟแดง และไม่สวมหมวกกันน็อค ซึ่งได้นำร่องใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเซฟเฟอร์โรดส์
-ติดกล้องเดือนเดียว “คนเชียงใหม่” สวมหมวกกันน็อคเพิ่ม 20%
‘นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร’ ผู้เชี่ยวชาญ สอจร. จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ของเชียงใหม่ กว่า 70% เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้ขับขี่สวมหมวกกันน็อคน้อยกว่าตอนกลางวัน เพราะไม่มีตำรวจบนท้องถนน โดยเฉพาะหลัง 20.00 น. อัตราสวมหมวกกันน็อคในเขตเมือง ลดลงเหลือเพียง 52% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอำเภอใกล้เคียงต่ำกว่ามาก ประมาณ 12% เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการติดตั้งกล้องอัจฉริยะระบบ AI ตรวจจับตลอด 24 ชม. ในระยะนำร่องตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งหมด 16 จุด ได้แก่ ในเขต อ.เมือง 8 จุด และอีก 4 พื้นที่ใกล้เคียงใน อ.สันทราย อ.สารภี อ.หางดง และ อ.แม่ริม แห่งละ 2 จุด พบว่า ผ่านไปเพียงหนึ่งเดือน ชาวเชียงใหม่สวมหมวกกันน็อคเพิ่มขึ้นถึง 20% ในทุกจุด โดยในแยกสำคัญ เช่น แยกรินคำ อัตราสวมหมวกอยู่ที่ 90% ส่งผลให้ช่วงปีใหม่ 2564 ยอดตายจากอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ลดลงถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
“แม้หมวกกันน็อคจะไม่ใช่อุปกรณ์วิเศษ ที่เมื่อสวมใส่แล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย แต่ก็สามารถช่วยลดและป้องกันการบาดเจ็บที่หัว อวัยวะสำคัญของคนเราให้ปลอดภัยได้ เนื่องจากตามสถิติอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ กว่า 80% ของผู้เสียชีวิต มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
-นักซิ่ง “ชาวขอนแก่น” ใช้ความเร็วลดลงเกินครึ่ง!
‘ดร.เจษฎา คำผอง’ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าแต่ละวันจะมีคนเมืองขอนแก่น อย่างน้อย 1-2 คน ที่กลับบ้านในสภาพไม่เหมือนเดิม สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุและการชนบนถนน ขอนแก่นจึงผลักดันมาตรการ “เขตขับขี่ปลอดภัย 14 กม. ลดความเร็ว ลดความตาย” บนถนนมิตรภาพ ในเขตตัวเมืองขอนแก่น แต่ด้วยข้อจำกัดของกำลังเจ้าพนักงาน จึงนำระบบกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมความเร็วตลอด 24 ชม. ซึ่งผลการประเมินหลังใช้มาตรการนี้ พบว่า ผู้ใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ลดลง 44% ส่วนผู้ใช้ความเร็วเกิน 100 กม./ชม. ลดลงมากถึง 52%
ไม่เพียงพฤติกรรมการใช้ความเร็วเท่านั้น เพราะหลังดำเนินมาตรการ 9 เดือน ยังทำให้ตัวเลขของผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง โดยรวมลดลงถึง 60% แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ลดลง 62% รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 68% รถบัสลดลง 25% รถพ่วงลดลง 80% และรถโดยสารลดลง 17% ขณะที่อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นจาก 77% เป็น 81%
“จากการประเมินอุบัติเหตุ ใจจุดทางแยกที่มีการติดตั้งกล้อง พบว่า จำนวนอุบัติเหตุนั้นลดลงถึง 22% ผู้บาดเจ็บลดลง 16% เซฟชีวิตได้ถึง 50% และอีกหนึ่งความสำเร็จ ก็คือทัศนคติของประชาชน ต่อการเคารพกฎจราจรเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังมีการปรับใช้อย่างจริงจัง” ดร.เจษฎา กล่าว
-กล้องภูเก็ต เซฟชีวิต-ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 62 ล้าน
‘รศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์’ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สรุปภาพรวมว่า หลังการติดตั้งกล้องตรวจจับ และระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในงานจราจร พบว่า จำนวนอุบัติเหตุในจุดติดตั้งลดลง โดยอ้างอิงข้อมูลจาก #ThaiRSC ในรัศมี 1 กม. จากจุดที่ติดตั้งกล้อง ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง 26% จาก 50 ราย ลดลง 37 ราย ช่วงปี 2560 – 2561 ซึ่งหากเปรียบเทียบความคุ้มค่าแล้ว คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงจากการสูญเสียกว่า 62 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าในการติดตั้งระบบกล้องตรวจจับอัตโนมัติ 5 จุด ใช้งบประมาณเพียง 16 ล้านบาท
ด้าน ‘คุณทัศนีย์ ศิลปบุตร’ ผู้แทนมูลนิธิเซฟเฟอร์โรดส์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากงบประมาณที่ได้ลงทุนใน 3 จังหวัด มีมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานระบุตัวเลขได้ชัดเจนแล้วว่า สามารถลดการตายได้จริง อย่างน้อย 25-30% ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง