คัดลอก URL แล้ว

ดนุพร ปุณณกันต์

ดนุพร ปุณณกันต์
ชื่อเล่น : บรู๊ค

             นายดนุพร ปุณณกันต์ มีชื่อเล่นว่า บรู๊ค เป็นหลานชายของ พลเอกพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง นอกจากนี้นายดนุพรยังเป็นน้องชายของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ด้วย และในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552 นายดนุพรได้เข้าพิธีสมรสกับ นางสาวสุวนันท์ คงยิ่ง (กบ) หลังจากที่คบหาดูใจกันมานานกว่า 10 ปี

 

ประวัติด้านการเมือง

             นายดนุพรเริ่มเล่นการเมืองด้วยการเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทยและดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2548 ในเขตสาธรและยานนาวา กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๔๘ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง นายดนุพร ปุณณกันต์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่นายดนุพรก็ต้องยุติหน้าที่เมื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และการเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน) ได้ประกาศบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง โดยนายดนุพรได้รับเลือกด้วยคะแนนมากกว่า 20% ของเขต แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แต่การเลือกตั้งจำเป็นต้องยกเลิกไปเนื่องจากเกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

             ซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย ร่วมกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า, พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคพลังแผ่นดิน แต่ให้ยกคำร้องพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารคนละ 5 ปี รวม 148 คน (พรรคไทยรักไทย 111 คน, พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า 15 คน, พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคพลังแผ่นดิน 3 คน) โดยทางกลุ่มไทยรักไทยได้มีมติให้สมาชิกพรรคย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน และได้ก่อตั้งมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย ในเวลาต่อมาด้วย

             ต่อมานายดนุพรลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งใน เขต 7 กรุงเทพมหานคร (บางกะปิ, สะพานสูง, มีนบุรี และ ลาดกระบัง) ในนามพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 1 ของเขตเลือกตั้ง แต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ร่วมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี รวม 109 คน (พรรคพลังประชาชน 37 คน,พรรคมัชฌิมาธิปไตย 29 คน และพรรคชาติไทย 43 คน) ทำให้นายดนุพรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของพรรคต้องย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยนอกจากจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปัจจุบันนายดนุพรยังดำรงตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, เลขานุการภาคกรุงเทพมหานครของพรรคเพื่อไทย และโฆษกคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านอีกด้วย

 

อดีต


      ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
      รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
      รองโฆษกพรรคพลังประชาชน 
      สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชาชน 
      โฆษกคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

 

ปัจจุบัน


      สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย
      โฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
      เลขานุการภาคกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย

ผลงานละครโทรทัศน์

  • อีสา ระวีโชติช่วง
  • ลูกตาลลอยแก้ว
  • สวรรค์เบี่ยง
  • ตั้งไข่ล้ม พรหมไม่ลิขิต
  • ราคนครา
  • หัวใจสองภาค
  • เงาใจ
  • คำมั่นสัญญา
  • บอดี้การ์ดสาว
  • นางมาร
  • เหยี่ยวสาวมือใหม่
  • พรพรหมอลเวง
  • สะใภ้ซ่าส์ แม่ย่าเฮี้ยน
  • ฟ้าใหม่
  • 7 พระกาฬ
  • กลับบ้านเรานะ…รักรออยู่
  • พยัคฆ์ร้ายหัวใจจิ๋ว

ผลงานพิธีกร

 – รายการ I-STYLE
 – รายการเวลาพารวย (พ.ศ. 2543)
 – รายการทำจริงไม่จน (พ.ศ. 2549 – 2550)
 – รายการ 07 โชว์