คัดลอก URL แล้ว

ยืนยง โอภากุล

ยืนยง โอภากุล
ชื่อเล่น : แอ๊ด

          ยืนยง โอภากุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ แอ๊ด คาราบาว เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน (บิดา-มนัส โอภากุล แซ่โอ มารดา-จงจิน แซ่ตั้ง) ยืนยง เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อ ศึกษาต่อเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป โดยเข้าเรียนใน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย(โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ ยืนยงได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือ สานิตย์ ลิ่มศิลา หรือ ไข่ และ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “คาราบาว” เป็นวงดนตรีที่เล่นดนตรีในเนื้อหาที่สะท้อนสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคม

 

เมื่อกลับมาเมืองไทย ไข่ ได้แยกตัวออกไป แอ๊ดและเขียวยังคงเล่นดนตรีต่อไป ในเวลากลางคืน โดยกลางวันแอ๊ดทำงานอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ ส่วนเขียวทำงานอยู่กับบริษัทของฟิลิปปินส์ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย

 

จุดเปลี่ยนของชีวิตยืนยง โอภากุล อยู่ที่การรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดแรกให้กับวงแฮมเมอร์ ในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา เป็นแรงดลบันดาลใจให้กับยืนยงว่า ถ้าจะออกอัลบั้มของตัวเอง คงจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จึงร่วมกับเขียว ออกอัลบั้มชุดแรกของวงคาราบาวในชื่อชุด “ขี้เมา” ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

 

คาราบาว มาประสบความสำเร็จในอัลบั้มชุดที่ 5 ของวง คือ ชุด “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่ออกในปลายปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 5 ล้านตลับ และนับตั้งแต่นั้น ชื่อของ แอ๊ด คาราบาว ก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย

 

โดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง เป็นผู้มีบุคคลิกเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าพูดกล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมอย่างแรงและตรงไปตรงมา โดยสะท้อนออกมาในผลงานเพลง ที่เจ้าตัวจะเป็นผู้เขียนและร้องเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีออกมามากมายทั้งอัลบั้มในนามของวงและอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง จนถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 900 เพลง รวมถึงการแสดงออกในทางอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ โดยผู้ที่ไม่ชอบคิดเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่ก้าวร้าว รวมถึงตั้งข้อสังเกตด้วยถึงเรื่องการกระทำของตัวยืนยงเอง

 

ยืนยง โอภากุล ไม่จำกัดตัวเองแต่ในบทบาทของศิลปินเพลงเท่านั้น แต่ยังได้มีผลงานเขียนหนังสือและแสดงละคร ภาพยนตร์ต่าง ๆ ด้วย อาทิ เช่น เรื่องพรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. 2545) ละครเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ ทางช่อง 9 (พ.ศ. 2544) ลูกผู้ชายหัวใจเพชร ทางช่อง 7 (พ.ศ. 2546) เป็นต้น รวมถึงการทำงานภาคสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ และยังได้แต่งเพลงประกอบโฆษณาหรือโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละโอกาสด้วย

 

ในปลายปี พ.ศ. 2545 ยืนยง โอภากุล ได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นหุ้นส่วนสำคัญคนหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ “คาราบาวแดง” โดยใช้ชื่อวงดนตรีของตัวเองมาเป็นจุดขาย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างในสังคมว่า สมควรหรือไม่ กับผู้ที่เคยสู้เพื่ออุดมการณ์มาตลอด มาเป็นนายทุนเสียเอง

 

ชีวิตส่วนตัว ยืนยง โอภากุล มีชื่อเป็นภาษาจีนกลางว่า “หูฉุนฉาง” แปลว่า “เกิดบนดิน” ชอบเลี้ยงไก่ชนซึ่ง เป็นสัตว์เลี้ยงที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีฟาร์มไก่ชนเป็นของตัวเอง นอกจากคาราบาวแดงแล้ว ยังมีกิจการทางดนตรีอีก คือ มีห้องอัดเสียงที่บ้านของตัวเอง ชื่อ เซ็นเตอร์ สเตจ สตูดิโอ ซึ่งเป็นสตูดิโอระดับชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของเมืองไทย และมีบริษัทเพลงชื่อ มองโกล เรคคอร์ด สมรสกับนางลินจง โอภากุล หญิงชาวบุรีรัมย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน คือ ณิชา (เซน) และ ณัชชา (ซิน) โอภากุล และชาย 1 คน คือ วรมันต์ โอภากุล (โซโล)

 

หมายเหตุ

    –  ยืนยง โอภากุล มีพี่ชายฝาแฝดอีก 1 คน เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน คือ ยิ่งยง โอภากุล ชื่อเล่น “อี๊ด” และเคยออกอัลบั้มร่วมกัน 1 อัลบั้ม คือ อัลบั้ม พฤษภา ในปี พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
    – ซูซู เคยแต่งเพลงเพื่อยกย่องยืนยง ชื่อเพลง ราชาสามช่า ในปี พ.ศ. 2534

อัลบั้มเดี่ยว

    * กัมพูชา (พ.ศ. 2527)
    * ทำมือ (พ.ศ. 2532)
    * ก้นบึ้ง (พ.ศ. 2533)
    * โนพลอมแพลม (พ.ศ. 2533)
    * เวิลด์ โฟล์ค เซน (พ.ศ. 2534)
    * พฤษภา (พ.ศ. 2535)
    * รอยคำรณ (พ.ศ. 2537)
    * รวงข้าวสีทอง (พ.ศ. 2538)
    * เดอะ แมน ซิตี้ ไลอ้อน (พ.ศ. 2539)
    * ใต้ดิน (พ.ศ. 2539)
    * เหลืองหางขาว (พ.ศ. 2543)
    * คนไทยหรือเปล่า (พ.ศ. 2544)
    * ไม่ต้องร้องไห้ (พ.ศ. 2545)
    * โอท็อป (พ.ศ. 2547)
    * ซึม เศร้า เหงา แฮงก์ (พ.ศ. 2548)
    * แมง ฟอร์ซ วัน (พ.ศ. 2549)
    * ตะวันตกดิน (พ.ศ. 2549)
    * ยืนยงตั้งวงเล่า (พ.ศ. 2551)
    * คนกับเมาท์ (พ.ศ. 2551)
    * ยืนยงและสหายดนตรี ชุด เดินต่อไป (พ.ศ. 2552)

 

ผลงานละคร

    * เขี้ยวเสือไฟ
    * ส่วย
    * ลูกผู้ชายหัวใจเพชร
    * มหาราชกู้แผ่นดิน
    * เพื่อนรักเพื่อนร้าย

 

ผลงานภาพยนตร์

    * สวรรค์บ้านนา (พ.ศ. 2526)
    * เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (พ.ศ. 2528)
    * คนเลี้ยงช้าง (พ.ศ. 2533)
    * พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. 2545)
    * ว้อ หมาบ้ามหาสนุก (ดารารับเชิญ) (พ.ศ. 2551)
    * สาระแน ห้าวเป้ง!! (พ.ศ. 2552)