
วันที่ 30 มีนาคม 2568 เมื่อเวลา 16.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) พร้อมด้วย นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรรมและ เจ้าหน้าที่ มอก. เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่ม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ (28 ม.ค.) ที่ผ่านมา
นายอนุทิน เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังคงพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายในที่เกิดเกตุ มีทีมแพทย์ประจำการสำหรับประเมินความเป็นไปได้ เพื่อวางแนวทางให้ความช่วยเหลือ เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรทั้งหมดเข้าไปดำเนินการเต็มที่ได้แต่ก็มีความหวังจะยังคงมีผู้รอดชีวิตอยู่ ส่วน การช่วยเหลือกรณีหากพบผู้รอดชีวิตจากการตรวจสอบภายในพบมีช่องอากาศที่สามารถจะใช้ในการสอดท่อลมเข้าไปได้ แต่ประเด็นคือผู้ที่ยังไม่สามารถออกมาได้นั้น เนื่องจากถูกทับด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่จึงทำให้ไม่สามารถขยับตัวได้ ซึ่งถือเป็นความยากลำบากในการทำงาน
ขณะเดียวกันในพื้นที่ยังมีทีมวิศวกรคอยประเมินการทำงานด้านการเจาะโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในซากอาคารและผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขณะนี้ได้เครื่องมือเข้ามาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก เช่น เครนขนาด 500 ตัน และ 600 ตัน ซึ่งก็จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการทยอยยกคานขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมากลงมาด้านล่างเพื่อลดแรงกดทับจากด้านบน ลดความเสี่ยงในการถล่มเพิ่มเติม ซึ่งการได้เครนขนาดใหญ่มาเป็นจำนวนมากถือเป็นผลดีเพราะจะช่วยในการถ่วงดุลน้ำหนักของโครงสร้าง โดยขณะนี้พบหน่วยกู้ภัยจากต่างประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานทั้งหน่วยกู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนการตรวจสอบหาสัญญาณชีพขณะนี้อยู่ระหว่างใช้เครื่องมือในการตรวจสอบแต่ต้องยอมรับว่าสัญญาณค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ ส่วนนี้อาจมาจากการที่ผู้ติดค้างอยู่ในซากอาคารติดค้างอยู่ภายในเป็นเวลานานหลายวันจึงอาจทำให้ไม่มีแรงในการขยับตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีการหาวิธีที่จะค้นหาผู้ติดค้างในทุกวิถีทาง โดยในวันพรุ่งนี้ก็จะครบเวลา 72 ชั่วโมง ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่จึงได้มีการเพิ่มแผนปฎิบัติงาน โดยจะต้องมีการประเมินและวิเคราะห์การปรับใช้เครื่องมือตลอด 24 ชั่วโมงโดยผู้เชี่ยวชาญ
รองนายกฯ อนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขผู้สูญหาย จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ายังคงมีผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใต้เศษซากอาคารอีกประมาณ 50 คน แต่ไม่ได้หมายความว่าหากครบทั้ง 50 คน แล้วจะหยุดการค้นหา ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ยอมรับว่า มีความยากลำบากและสำคัญเทียบเท่าใกล้เคียงกับภารกิจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ส่วนการตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการฯโดยขีดเส้นให้ดำเนินการภายใน 7 วัน โดยมีวิศวกรใหญ่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรม และนักวิชาการ เป็นคณะทำงานตรวจสอบ โดยการตรวจสอบจะเน้นไปที่ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งขณะนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ได้ลงพื้นที่เก็บชิ้นส่วนไปตรวจสอบ แต่ส่วนตัว มองว่า ตึกนี้น่าจะมีปัญหาเนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีตึกเป็นจำนวนกว่า 10,000 ตึก บางตึกมีอายุมากกว่า 30-50 ปี แต่ก็ไม่เห็นเกิดปัญหาเหมือนเช่นอาคารแห่งนี้ ซึ่งเดิมทีประเทศไทยก็มีมาตรฐานในการ ก่อสร้างอาคารสูงเพราะฉะนั้น ตัวเองจึงไม่อยากให้นำข้อมูลการก่อสร้างของอาคารแห่งนี้มาเปรียบเทียบกับตึกอื่นๆ




