คัดลอก URL แล้ว
ลุยแก้ปมพะยูนเกยตื้น  รมว.ทส. ฟัน 4 มาตรการ พร้อมสั่ง ทช. – อส. ร่วมเครือข่าย เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล เมืองตรัง 

ลุยแก้ปมพะยูนเกยตื้น  รมว.ทส. ฟัน 4 มาตรการ พร้อมสั่ง ทช. – อส. ร่วมเครือข่าย เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล เมืองตรัง 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยหลักของพะยูนในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน ส่งผลกระทบทำให้พะยูนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้กำหนด 4 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ประกอบด้วย 1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบจำนวน พื้นที่การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสำรวจสุขภาพของพะยูนแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์ หรือมีอาการป่วย เพื่อหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร 2.หาแนวทางประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตราย จากการประกอบกิจกรรมในทะเล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เข้ามาอาศัย จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก โดยจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป 3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พะยูนอพยพย้ายถิ่น ตลอดจนกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษโดยการเสริมอาหารทดแทนหญ้าทะเลในธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดตรัง และจังหวัดภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอกเพื่อดูแลพะยูนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอในธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาและเตรียมความพร้อมของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง และศูนย์ช่วยชีวิตสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต และ 4.เตรียมบ่อกุ้งร้างหรือสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน พร้อมทั้งเร่งศึกษานวัตกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนเงิน 615,163,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในวันนี้ (7 ธันวาคม 2567) ตนได้ลงพื้นที่มายังโรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (เกาะลิบง) อ.กันตัง จ.ตรัง พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พันจ่าโท อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และนายสุวิทย์ สุริยะวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่อพบปะพี่น้องชาวเกาะลิบง และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง รวมทั้งรับฟังรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายากในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่จังหวัดตรัง ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติงานในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและพะยูน พร้อมมอบนโยบายในด้านการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และการฟื้นฟูแหล่งอาหารของพะยูน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในการดูแล ปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลไม่ให้สูญหายไปจากท้องทะเลตรัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง