ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง) กรอบวงเงิน 29,980.1645 ล้านบาท เนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ และปัจจุบันล่วงเลยระยะเวลาการสนับสนุนปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) ไปแล้ว อีกทั้งเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567 เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 72.20 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวและนำผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินงานโครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน ครัวเรือนละ 20,000 บาท เป็นจำนวนมาก
รมว.นฤมล กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาอุปสรรคของโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวนา ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เสนอ นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการมาตรการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของการผลิตข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุข้าว จำนวน 2 โครงการ เป้าหมาย 543 ศูนย์ จำนวนเงิน 2,428.1830 ล้านบาท (โดยใช้จากกรอบวงเงินที่เหลือจากโครงการสนับสนุนปุ๋ยฯ วงเงิน 2,429 ล้านบาท) ได้แก่ 1. โครงการศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าข้าว และ 2. โครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจะนำเสนอ นบข. พิจารณาอนุมัติเห็นชอบภายในอาทิตย์หน้านี้ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยในที่ประชุมนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ประธานกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตลอดจนผู้แทนชาวนา ต่างแสดงความคิดเห็นและพึงพอใจต่อมติดังกล่าว
ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าภายหลังจากคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่งมาเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินจำนวน 27,550.96 ล้านบาท โดยให้ชาวนาได้รับเงินชดเชยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลผลผลิต โดยพิจาณาตามกรอบวงเงินที่มีอยู่ คือ 29,980 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือจะเสนอ 2 โครงการคู่ขนาน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ศูนย์ข้าวชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าโครงการใหม่นี้ได้ จะต้องมีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ระบุไว้ว่า ให้หน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกร
พร้อมกันนี้ยังได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการข้าวตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะทำงานบริหารจัดการเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานฯ รัฐบาล เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการรับเงินอุดหนุนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินการตามโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และ 2) คณะทำงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เป้าหมายรวม 8.50 ล้านตัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,604.01 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68 โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติ ในวันที่ 29 พ.ย.67 ต่อไป