คัดลอก URL แล้ว
“DSI” มติเอกฉันท์! ฟัน “ดิไอคอนกรุ๊ป” เข้าข่ายคดีพิเศษ

“DSI” มติเอกฉันท์! ฟัน “ดิไอคอนกรุ๊ป” เข้าข่ายคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระยะเวลา 2 ชม. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงของสำนวนคดี และการดำเนินการของตำรวจทั้งหมด เพื่อส่งมอบให้ดีเอสไอรับไปดำเนินการเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นั้น

ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่าวานนี้ (28 ต.ค.) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้ส่งสำนวนให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ โดยดีเอสไอจะมีการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ความผิดตามบัญชีท้าย หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และ 2.หากไม่ได้อยู่ในบัญชีท้ายก็จะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งในกรณีนี้ทางอธิบดีดีเอสไอได้มอบหมายให้ตนในฐานะประธานกลั่นกรองการรับเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรค 1 (1) ซึ่งจะเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ประกอบกับ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ส่วนนี้จะอยู่ในบัญชีท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จึงได้เชิญพนักงานสอบสวนของ บช.ก. และผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม และพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันเป็นประโยชน์ให้คณะกรรมการกลั่นกรองได้พิจารณาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เราจะรับข้อเท็จจริงและพิจารณาพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดตามบัญชีท้ายอย่าง พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ มีลักษณะเป็นคดีพิเศษ หรือไม่ แต่เท่าที่รับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อรีบเสนอให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษใน 2 ความผิดนี้ต่อไปในช่วงบ่ายวันนี้

ร.ต.อ.วิษณุ เผยว่า สำหรับรูปแบบพฤติการณ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาว่าเป็น 2 ความผิดดังกล่าว คือ ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ รอง ผบช.ก. และทีมงานได้มาให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวน ทั้งเรื่องแผนประทุษกรรม แผนการตลาดจากคอมพิวเตอร์ งบการเงิน และพยานหลักฐานอื่น ซึ่งชัดเจนว่าเข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ส่วนกรณีคดีพิเศษเรื่องฟอกเงินทางอาญา จะไม่ได้มารวมในคดีแชร์ลูกโซ่ดังกล่าว เพราะมันต่างกรรมกัน ไม่เหมือนฉ้อโกงประชาชนที่กรรมเดียวกันแต่ผิดกฎหมายหลายบท แต่ฟอกเงินมันจะต่างกรรมกัน จึงต้องแยกเป็นอีกเลขคดีพิเศษก่อนหน้านี้ คือ คดีพิเศษที่ 115/2567

ดีเอสไอจะทำงานร่วมบูรณาการกับตำรวจ ไม่ใช่การนับ 1 แต่เป็นการนับ 9 นับเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ทางตำรวจก็ยังจะมาร่วมสอบปากคำกับดีเอสไอได้ ส่วนสถานที่ที่จะใช้ในการสอบปากคำต้องขอประชุมพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้สะดวกที่สุด ยืนยันว่าเราไม่ไปตัดอำนาจของตำรวจที่มีการทำมาก่อนแน่นอน เพราะเราทำงานร่วมกัน สนับสนุนกัน บูรณาการทีมงานกัน และทาง บช.ก. ก็ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาให้ดีเอสไอตลอดเวลา

และ การจะสอบปากคำผู้ต้องหารายใดเพิ่มเติม ดีเอสไอจะประชุมร่วมกันกับตำรวจเพื่อพิจารณาว่าส่วนใดบ้างที่ บช.ก. อยากจะดำเนินการ อีกทั้งเรื่องหมายจับของผู้ต้องหากลุ่มถัดไป ดีเอสไอขอดูที่พยานหลักฐานสำคัญที่ต้องเพียงพอตามสมควร และเราต้องพิจารณาร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง จะทำอย่างมีประสิทธิภาพ และจะทันผัดฝากขังผู้ต้องหาแน่นอน เพราะข้อกล่าวหา พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ สามารถขยายเวลาฝากขังได้ถึง 7 ฝาก แต่เราก็ต้องรีบพิจารณารวดเร็วด้วย ทั้งนี้ จะได้มีหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในคดี รวมทั้งจะเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทุกด้านมาเป็นที่ปรึกษาในคดีเช่นเดียวกัน เพราะเราต้องดูการต่อสู้ของผู้ต้องหาและประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงิน การวิเคราะห์ การเสียภาษี เป็นต้น เนื่องด้วยเขาอยู่ในวงการขายตรงมาหลายปี

ส่วนแม่ทีม 5 รายที่ทนายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายของบอสพอล จะเข้ามายื่นร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดีเอสไอเปลี่ยนสถานะจากผู้เสียหายเป็นผู้ต้องหานั้น คงต้องขอดูข้อเท็จจริงก่อนว่ามีประโยชน์ตรงไหน หรือมีพฤติการณ์ที่เราจะใช้มาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ อะไรที่ส่งมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เรายินดี แต่ก็ต้องสอดรับกับหลักฐานที่เรารับมา โดยเฉพาะหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์

ร.ต.อ.วิษณุ อธิบายถึงลักษณะของตัวการร่วมในการกระทำความผิด ว่า เราสามารถพิจารณาได้ว่าอะไรคือตัวการหลัก ตัวการร่วม และต้องยึดข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน หรือรู้หรือควรรู้ แล้วอ้างไม่รู้ เราก็ต้องใช้พิจารณา รวมทั้งต้องใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พวกเส้นทางการเงินมีลักษณะอย่างไร ซึ่งในเรื่องแชร์ลูกโซ่มันชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น การจะออกหมายเรียกใครในกลุ่มที่ 2 มาสอบปากคำหรือดำเนินคดี ก็ต้องดูเส้นทางการเงินว่าใครได้รับประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดตัวการหลักที่อยู่ในเรือนจำฯ หรือเรียกว่าตัวการร่วม ทั้งนี้ กลุ่มพรีเซนเตอร์จะมีความผิดด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูรายละเอียดและข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคล เพราะต้องดูสิ่งตอบแทนที่เขาได้รับ

ส่วนเรื่องจำนวนบัญชีแอคเคานต์ที่เกี่ยวข้องกับแผนธุรกิจบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปฯ ประมาณ 300,000 บัญชีนั้น อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่ขอเผยว่ามีชื่อบุคคลสำคัญหรือไม่ ขณะที่ประเด็นเรื่องนาฬิกาเก๊ยันกล่องที่ดีเอสไอไปตรวจยึดมาก่อนหน้านี้ เบื้องต้นมีกระแสข่าวว่าเป็นของบอสอ๊อฟ หรือนายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หากเป็นการสะสมไว้เพื่อสำหรับจัดฉากโชว์ เพื่ออ้างว่าประกอบธุรกิจกับเขาแล้วจะมีนาฬิกาหรู แบบนี้ตนจะยึดไว้เป็นของกลางในคดี ส่วนผลตรวจพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้มีการแจ้งมา อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากตรวจแล้วพบว่าเป็นของแท้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายในคดีที่จะได้รับชดเชยเฉลี่ยเงินคืนได้มากขึ้นจาก ปปง.

ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. (รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีผู้เสียหายมาแจ้งความเอาผิดกลุ่มผู้ต้องหาและเครือข่าย ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในประเด็นต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายได้มีการแจ้งความเอาผิดในหลายข้อหา ทั้งความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ และความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหา แต่ในระยะเวลาเพียง 5 วันหลังสืบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาเริ่มมีการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและมีการเตรียมการหลบหนีออกนอกประเทศจึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีไปให้ศาลอาญาพิจารณาออกหมายจับผู้ต้องหาทุกคน ในความผิดข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ และฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีหลักฐานเพียงพอจนศาลออกหมายจับให้ ซึ่งหลังจากจับกุมผู้ต้องหาได้ครบทุกคน ตำรวจได้ทำการสอบปากคำผู้ต้องหาและปรากฏหลักฐานข้อมูลเส้นทางการเงิน งบการเงิน รูปแบบการตลาด การเสียภาษี พบว่ามีรูปแบบพฤติการณ์เสนอผลตอบแทน สร้างภาพลักษณ์ภูมิฐาน ชักจูงให้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของแชร์ลูกโซ่ และเมื่อตรวจสอบจำนวนของผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจึงชัดเจนว่าคดีดังกล่าวเข้าตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ที่ต้องมีผู้เสียหายจำนวนมากกว่า 300 คนและมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท จึงต้องส่งคดีดังกล่าวให้ดีเอสไอพิจารณา ไม่ได้เป็นการโยนคดี แต่เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ จึงได้เร่งรวบรวมพฤติการณ์และพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ดีเอสไอนำไปดำเนินคดีต่อ

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เริ่มมีการทำคดีมาจนถึงปัจจุบัน การรับแจ้งความในสำนวนของผู้เสียหายยอมรับว่ายังไม่เรียบร้อยและยังไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เนื่องจากมีผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาเป็นจำนวนกว่า 8,000 คน ทั้งที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและจากต่างจังหวัด ซึ่งสำนวนที่แจ้งความที่ตำรวจสอบสวนกลางก็ได้ทำการทยอยส่งสำนวนให้ดีเอสไอจนเกือบครบหมดแล้ว แต่ต้องรอให้สถานีตำรวจแต่ละพื้นที่ส่งสำนวนเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อรวบรวมส่งให้ดีเอสไอต่อไป สำหรับการทำสำนวนคดีและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดกลุ่มผู้ต้องหา ยืนยันว่าขณะนี้ตำรวจทำสำนวนคดีและมีพยานหลักฐานเกินกว่า 70% แล้ว หากดีเอสไอต้องการข้อมูลหรือพยานหลักฐานและความช่วยเหลือใด ๆ ก็พร้อมดำเนินการสนับสนุน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ได้ทยอยนำส่งสำนวนคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เพิ่มเติมแก่ดีเอสไออีก 17 ลัง โดยลังสำนวนทั้งหมดจะถูกนำไปไว้รวมกันกับ 20 ลังทั้งสำนวนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย และคำให้การของผู้ต้องหา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง