คัดลอก URL แล้ว
AI มาแรง “จ๊อบไทย” ชวนเหล่าผู้บริหารดัง มาแชร์เทคนิคปรับกลยุทธ์องค์กร และแนวทางปรับตัวสำหรับคนทำงานในยุค AI

AI มาแรง “จ๊อบไทย” ชวนเหล่าผู้บริหารดัง มาแชร์เทคนิคปรับกลยุทธ์องค์กร และแนวทางปรับตัวสำหรับคนทำงานในยุค AI

Artificial Intelligence หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนต่างให้ความสนใจในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกล้วนหันมาใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อทำให้องค์กรสามารถประหยัดเวลา ลดต้นทุน และสร้างกำไรได้มากขึ้น จ๊อบไทย จึงชวนผู้บริหารคนดัง แชร์ไอเดียปรับกลยุทธ์ยังไงให้เวิร์ก ในยุคที่คนกับ AI ต้องทำงานร่วมกัน งานนี้ทั้งสองผู้บริหาร นำโดย คุณภารุต เพ็ญพายัพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC Idyllias ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ และคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) แพลตฟอร์มซื้อ-ขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และนักลงทุน มาร่วมแชร์ไอเดีย พร้อมแนะเทคนิคองค์กรยุคใหม่ ปรับกลยุทธ์อย่างไรในวันที่ AI  มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ

คุณแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า แม้เทคโนโลยี AI จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังมีองค์กรในไทยไม่น้อยที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรต้องศึกษาและวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกิจ เพื่อปรับตัวให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันต้องสนับสนุนพนักงานให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่อง AI ด้วย

สำหรับองค์กรที่อยากเริ่มต้นใช้เทคโนโลยี AI นั้นต้องรู้ก่อนว่า AI มีหลายรูปแบบ สิ่งแรกที่ควรทำคือต้องดูรูปแบบธุรกิจของคุณว่าเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขนาดไหน ถ้าจะต้องลงทุนเพิ่มจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า มีประสิทธิภาพหรือลดต้นทุนในระยะยาวได้หรือไม่ ตัวอย่างการใช้ AI กับธุรกิจต่าง ๆ เช่น การใช้ AI ที่พัฒนาเพื่อการวิเคราะห์และประมวลผลในธุรกิจด้านการตลาดและการเงิน  ส่วนธุรกิจด้านการแพทย์ก็จะใช้ AI ในการตรวจจับความผิดปกติของร่างกาย ตลอดจนอาการเริ่มต้นของโรคหรือคาดการณ์แนวโน้มได้ล่วงหน้าจากข้อมูลผลการตรวจประกอบกับภาพถ่าย หรือคนทำงานในธุรกิจอื่น ๆ ก็เริ่มมีการใช้งานGenerative AI กันมากขึ้น เช่น การใช้ AI สรุปประเด็นที่เราต้องการรู้ให้เข้าใจง่าย ๆ ต่อมาก็ต้องดูว่าหน้าที่หลักของพนักงานมีอะไรและมีส่วนไหนที่สามารถเอา AI มาช่วยให้พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นบ้าง

สุดท้ายก็เป็นการประเมินและเตรียมพร้อมด้านทักษะให้กับพนักงานตามความเหมาะสมกับลักษณะงานและศักยภาพของพนักงานแต่ละคน ถ้าคนไหนมีความรู้ระดับพื้นฐานก็ต้องมีการอบรม Upskill หรือ Reskill เพื่อให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AI ได้ คนไหนที่เก่งเรื่องการใช้งาน AI อยู่แล้วก็อาจจะเริ่มทดลองใช้ AI ในการทำงานจริงและทำหน้าที่อัปเดตข่าวสารเทคโนโลยีใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจและเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน และส่งผลดีต่อองค์กรโดยรวม และองค์กรต้องมีการสื่อสารกับพนักงาน ที่มีความกังวลว่า AI จะมาทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยต้องสื่อสารให้ชัดเจนคือเล่าทิศทางการพัฒนาองค์กรว่าจะใช้งานเทคโนโลยีอย่างไร และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทั้งองค์กรและตัวพนักงานเองจะได้หากเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

ด้าน คุณภารุต เพ็ญพายัพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC Idyllias ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภายในองค์กรได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทำงานในชีวิตประจำวันของพนักงาน เช่น การใช้ Chat GPT หรือ Google Gemini เพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการใช้ AI ลดงานแอดมินอย่างสรุปการประชุม และในด้านของธุรกิจยังได้นำ AI มาช่วยส่งเสริมการขายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC ด้วยการพัฒนาเวอร์ชวลแกลเลอรี่ (Virtual Gallery) เพื่อให้ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์แก่ลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางมาในโครงการ ในรูปแบบของ 3D ที่ให้ประสบการณ์เสมือนจริง และยังมี AI Agent ที่สามารถให้ข้อมูลและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ใกล้เคียงการคุยกับพนักงาน ซึ่งมี 3 ภาษา คือไทย อังกฤษ จีน อีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยี AI เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ประสบการณ์บนตัวธุรกิจใหม่ในโครงการ MQDC Idyllias โครงการเมตาเวิร์สน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึง AI ในมุมของคนทำงาน คุณภารุต กล่าวว่า โดยทั่วไปคนทำงานจะมีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่กระตือรือร้น อยากทดลองใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง และอีกกลุ่มอาจจะอยู่ในช่วงที่ยังปฏิเสธ รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะใช้เทคโนโลยี AI ในการทำงานอย่างไร ดังนั้น องค์กรต้องช่วยสนับสนุนคอร์สการเรียนรู้ และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนทดลองใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เมื่อทุกคนได้สัมผัสใกล้ชิดมากเท่าไหร่ ก็จะเห็นทิศทางพฤติกรรมของพนักงานว่าเริ่มไปในทิศทางที่พร้อมจะปรับตัวมากขึ้น

สำหรับมุมมอง AI กับบทบาทของผู้บริหารเองต้องวางแผนบริหารจัดการ ดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเลือกเครื่องมือที่มีอยู่มากมายในตลาดให้เหมาะสมและตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ปัญหาที่อยากแก้ไขให้กับตัวลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือเรื่องอะไร ใช้ประเด็นเหล่านี้ในการตั้งโจทย์เพื่อเลือกเครื่องมือที่มาแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด รวมถึงจะใช้ AI เป็นตัวส่งเสริมประสบการณ์ในการคิดนวัตกรรม หรือคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างไรบ้าง  เอามาเสริมในจุดนั้นจะเป็นวิธีการที่ทำให้เราขับเคลื่อนงานได้อย่างมีทิศทางมากที่สุด

คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) แพลตฟอร์มซื้อ-ขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และนักลงทุน ให้ความคิดเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์ AI ในภาคธุรกิจไทยว่า สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มศึกษาเรื่องการใช้ AI ต้องมองภาพให้ออกว่าคุณอยู่ในประเภทธุรกิจไหน แล้ว AI จะเข้ามามีผลกระทบกับประเภทธุรกิจของคุณมากน้อยอย่างไร และส่งผลกระทบในด้านใดบ้าง บางประเภทธุรกิจ AI อาจจะส่งผลกระทบไม่มากนัก ในขณะที่บางธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะโดน Disrupt ซึ่งอาจจะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ได้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่นำ AI มาใช้กับธุรกิจมากขึ้น ตัวอย่างธุรกิจขายปลีก (Retail) นำ AI เข้ามาใช้ตั้งแต่กระบวนการและขั้นตอนในการจัดสรรสินค้า (Supply Chain Optimization) เช่น การจัดการคลังสินค้า (Inventory Management) โดยวิเคราะห์สต็อกสินค้าว่าสินค้าไหนที่มีมากไปและมีโอกาสเสียหายหรือหมดอายุ สินค้าไหนที่ไม่เพียงพอต่อการขายซึ่งช่วยให้จัดการได้เร็วขึ้น รวมถึงการวางแผนเส้นทาง (Route Planning) ในการส่งสินค้าซึ่งช่วยคิดว่าจะต้องไปส่งสินค้าอย่างไรให้ประหยัดเวลาและน้ำมันมากที่สุด ตลอดจนฝั่งการขายก็มีการนำ AI มาใช้ในการเสนอสินค้าตามพฤติกรรมและความต้องการของแต่ละคน

นอกจากนี้จะเห็นว่า Generative AI ปัจจุบันสามารถสร้างทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และเป็น AI ที่ทำให้คนทั่วไปให้ความสนใจเป็นอย่างมากซึ่งดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับงานคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ คุณณัฐวุฒิ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะยาว AI ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตคอนเทนต์โดยเฉพาะนักวาดภาพประกอบ แต่ปัจจุบันทางด้านนักเขียน นักวาดภาพประกอบ ยังมีความกังวลเรื่องของลิขสิทธิ์ในการใช้ AI และมีการทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและสนับสนุนความเป็นศิลปินอยู่ เลยยังไม่มีการนำ AI มาใช้ในงานมากนัก สำหรับด้านแพลตฟอร์มอุ๊คบีมีการนำ AI มาใช้ในการนำเสนอสินค้าในแพลตฟอร์มให้ตรงกับความสนใจของลูกค้ามากขึ้น ตลอดจนงานเอกสารต่าง ๆ

คุณณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า คำแนะนำสำหรับผู้นำองค์กร ต้องเข้าใจอย่างแน่ชัดว่าธุรกิจของคุณต้องการอะไร และต้องพาบริษัทไปในโจทย์ที่ถูกว่าการใช้ AI จะช่วยให้ลดต้นทุนและเพิ่มกำไรได้อย่างไร สำหรับคนทำงานทั่วไป คุณณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า AI อัปเดตเร็วมากเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปพร้อมกันเพราะถ้าไม่เริ่มเรียนรู้และรอให้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลอาจจะตกขบวนได้ คนทำงานสามารถทำได้โดยดูว่างานในหนึ่งวันของเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น ประชุม เขียนอีเมล ผลิตคอนเทนต์ จากนั้นมาดูต่อว่ามี AI อะไรมาช่วยได้บ้าง ซึ่งทุกวันนี้ AI อาจจะยังไม่เพอร์เฟกต์แต่เราจะเห็นว่าพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เสียหายที่จะทดลองใช้

โลกธุรกิจและตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นฝั่งองค์กรควรกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจให้ชัดเจน และมีการเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยีให้กับบริษัทและพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ สนับสนุนให้ทดลองใช้เทคโนโลยีในงานมากขึ้น ด้านคนทำงานต้องมีพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ องค์กรและพนักงานก็จะเติบโตไปพร้อม ๆ กัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง