ชาวบ้านให้คะแนนผ่านครึ่ง รัฐเข็นโครงการแก้ปัญหาริมราง หวั่นใจอาจไม่เป็นไปตามแผน เหตุผู้มีอำนาจเจียดงบโครงการไม่สอดคล้องแผนงาน ทำบ้านคนจนไม่เสร็จตามเป้าเจอโรคเลื่อนถามหา เครือข่ายยืนยันเฝ้าจับตาจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่เป็นรายกรณีให้ตรงใจชาวบ้าน
นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคและที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ หรือ ชมฟ. กล่าวถึงการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน (2566-2570) ว่า วันนี้หากถามพวกเราว่าพอใจไหมกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังช่วยเหลืออยู่ ถ้าคะแนนเต็ม 10 ชาวบ้านคงให้ 6 คะแนน เพราะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร กว่าที่ชาวบ้านจะมีที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้มีที่อยู่อาศัยกันครบทุกคน นอกจากนี้ขอฝากไปถึงหน่วยงานรัฐ สำนักงบประมาณควรจัดสรรงบให้สอดคล้องกับแผนโครงการดังกล่าวเพื่อให้ขบวนการช่วยชาวบ้านไม่สะดุด เราอยากให้ผู้มีอำนาจทำตามแผนการดำเนินโครงการฯระยะ 5 ปี (2566-2570)เพราะถ้างบไม่มาตามแผนหรือจัดสรรให้น้อย การทำงานในโครงการอาจต้องเลื่อนออกไปอีก เท่ากับที่อยู่อาศัยใหม่ชาวบ้านก็เลื่อนออกไปด้วย อยากให้เข้าใจหัวอกคนจนด้วยว่าที่อยู่อาศัยทำให้คนมีหลักประกันในชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านกังวลที่สุดเวลานี้
นายอัภยุทย์ ยังกล่าวถึงผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางในบริเวณชุมชนริมทางรถไฟบางซื่อ กม.11 ว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมทีเคยมีพนักงานการรถไฟเกษียณแล้ว แต่ไม่มีที่อยู่อาศัยประกอบกับเป็นครอบครัวขยายด้วย จึงได้มาบุกเบิกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ย่านนี้สร้างบ้าน ต่อมามีชาวบ้านจากต่างจังหวัดที่มาหางานทำในเมืองเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างบ้านร่วมด้วยจนกลายเป็นชุมชน 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านพักรถไฟบางซื่อ ชุมชนพัฒนา กม.11 ชุมชนริมทางรถไฟ กม.11 ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนต้องการนำที่ดินริมทางรถไฟย่านนี้ไปพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและธุรกิจ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านจึงมีการรวมตัวเคลื่อนไหวในนาม “ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ”หรือ ชมฟ.เพื่อให้เกิดพลังในการเรียกร้องปกป้องสิทธิชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง
ทั้งนี้ปี 2563 ชาวบ้านรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ชมฟ. มีข้อเสนอขอเช่าที่ดิน รฟท.ให้ถูกต้องตามกฏหมาย พร้อมผนวกรายชื่อชุมชนที่ตกสำรวจได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จากนั้นปี 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นปัญหาและขยายจำนวนชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็น 300 ชุมชนทั่วประเทศ โดยชาวบ้านขอให้รัฐบาลหาที่อยู่ใหม่ใกล้ๆที่อยู่เดิมจะได้สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน เพราะถ้าไปอยู่ไกลจากพื้นที่เดิมก็เหมือนถอนรากถอนโคนชาวชุมชน อย่างไรก็ตามขณะนี้แม้ว่าในทางนโยบาย รฟท.จะยอมรับเงื่อนไขชาวบ้านและดำเนินการให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศแต่ทางปฏิบัติเครือข่ายชาวบ้านจำเป็นต้องดูสภาพปัญหาเป็นรายกรณีด้วยโดยเจรจาหาจุดลงตัวให้สอดคล้องกันมากที่สุด.