คัดลอก URL แล้ว
“Color Creation“ มหัศจรรย์พืชพื้นถิ่น เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ เสริมอัตลักษณ์บนผืนผ้า

“Color Creation“ มหัศจรรย์พืชพื้นถิ่น เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ เสริมอัตลักษณ์บนผืนผ้า

กรมการพัฒนาชุมชน จัดโครงการสอนย้อมสีธรรมชาติ ภาคใต้ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา

โดยนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการนี้ ได้รับเกียรติจากคุณนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ คุณสุทธิ เรืองวิทยาโชติ Content Creator อาจารย์ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาการจังหวัด 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และจังหวัดพัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 5 จังหวัด และสมาชิกกลุ่มศิลปชีพเข้าร่วมกิจกรรมฯ

นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเท เสียสละ ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อทำให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสที่ดีในการสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้ง แนวพระดำริ “Sustainable Fashion”หมายถึง “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรม ล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ จะเห็นได้ว่าการนำผ้าอัตลักษณ์ และงานหัตถกรรมทุกรูปแบบ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทำให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีคุณภาพชีวิตของที่ดีและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ในวันนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมฯ ทุกท่าน จะได้รับความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนำองค์ความรู้ที่ได้นั้น ไปสร้างสรรค์ต่อยอดผลงานให้ทันสมัย ก้าวสู่ระดับสากล และขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้ารับการอบรมฯ ทุกท่าน ได้มุ่งมั่นและน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อผลิตสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน สืบไป

นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ ในการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม
2) เพื่อส่งเสริมช่องทาง การจำหน่ายสินค้า ผ่านระบบออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP

โดยดำเนินการ 4 จุด ได้แก่ จุดดำเนินการที่ 1 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลาในวันนี้ จุดดำเนินการที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช จุดดำเนินการที่ 3 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก และจุดดำเนินการที่ 4 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี จุดดำเนินการละ 30 คน

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ในพื้นที่ ภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง สตูล และมีสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย รวมจำนวน 50 กลุ่ม/ราย การอบรมในครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย จะได้รับความรู้ จากทีมผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเนื้อหาหลักสูตร ดังนี้

1) การย้อมสีธรรมชาติ การเลือกเส้นใย การสกัดสีจากพืช ที่ใช้ย้อม สีธรรมชาติ, การเป็นผู้ประกอบการที่ “สร้างสรรค์วัตถุดิบธรรมชาติ จากภูมิปัญญา สู่การพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน” และ
2) ด้านการตลาด การจัดทำ Content แนะนำผลิตภัณฑ์ จากการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อใช้ในการจำหน่าย ผ่านช่องทางออนไลน์


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง