คัดลอก URL แล้ว
สทนช. ยืนยัน เขื่อนกั้นน้ำทะเลสาบต้งถิงที่จีนแตก ไม่ส่งผลกระทบถึงไทย

สทนช. ยืนยัน เขื่อนกั้นน้ำทะเลสาบต้งถิงที่จีนแตก ไม่ส่งผลกระทบถึงไทย

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวคันเขื่อนกั้นน้ำของทะเลสาบต้งถิงได้แตกพังทลาย เมื่อบ่ายวันศุกร์ (5 ก.ค. 67) ที่ผ่านมา เนื่องจาก มณฑลหูหนาน เพิ่งเผชิญฝนตกหนักสุดในรอบปีนี้ โดยส่วนหนึ่งของกำแพงเขื่อนกั้นน้ำริมทะเลสาบต้งถิงได้พังทลายลงมา ทำให้น้ำไหลบ่าท่วม แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ระดับน้ำที่ท่วมสูงทำให้มีการอพยพประชาชนเกือบ 6,000 คนออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่อยู่ใกล้เคียง นั้น ขอเรียนยืนยันว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่มีทิศทางการไหลของน้ำมายังแม่น้ำโขง อีกทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพลุ่มน้ำนั้น อยู่กันคนละลุ่มน้ำและไม่มีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยนั้นสภาพลุ่มน้ำที่มีส่วนเชื่อมโยงกันทางกายภาพกับจีน ก็เฉพาะในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang)

ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย , เลย , หนองคาย , บึงกาฬ , นครพนม , มุกดาหาร , อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่

“สำหรับประเทศไทย สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ ได้แก่ เขื่อน , อ่างเก็บน้ำ และพนังกั้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 โดยมีการติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง