คัดลอก URL แล้ว
โพลชี้ คนไทยนิยมซื้อผลไม้ที่ตลาดสด ตลาดนัดมากสุด

โพลชี้ คนไทยนิยมซื้อผลไม้ที่ตลาดสด ตลาดนัดมากสุด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เมื่อเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา จำนวน 4,614 ตัวอย่าง ครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ พบว่า ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อผลไม้จากตลาดสด ตลาดนัด รถขายผลไม้ และซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก เพราะมีความสะดวกและราคาถูก โดยจะซื้อผลไม้เป็นประจำทุกเดือนในเกือบทุกแหล่งขาย ด้วยวงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน

สำหรับผลไม้ที่ได้รับความนิยม คือ แตงโม ส้ม และกล้วย ขณะที่ผลไม้ตามฤดูกาลในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่นิยมซื้อ คือ ทุเรียน เงาะ และมังคุด

รายละเอียดผลการสำรวจ ในส่วนของแหล่งซื้อผลไม้ ผู้บริโภคนิยมซื้อที่ตลาดสด ตลาดนัด สัดส่วน 70.63% เป็นกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พนักงานของรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้อาศัยในภาคกลาง ตามด้วยรถขายผลไม้ 42.06% เป็นกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นักศึกษา และผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้อาศัยในภาคใต้ และซูเปอร์มาร์เก็ต 32.05% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้มีรายได้เกินกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และมีแนวโน้มซื้อออนไลน์ ซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ซื้อมีรายได้สูงขึ้น

ส่วนเหตุผลในการซื้อผลไม้จากแหล่งต่าง ๆ พบว่า การซื้อที่ตลาดสด ตลาดนัด เพราะเลือกได้ ซื้อที่รถขายผลไม้ เพราะสะดวก และซื้อที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะคุณภาพ และความถี่ในการซื้อ พบว่า มีทั้งซื้อทุกเดือน ทุกสัปดาห์ และซื้อทุกวัน โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อผลไม้อยู่ที่เฉลี่ย 300-500 บาทต่อเดือนมากที่สุด รองลงมา คือ 501-1,000 บาทต่อเดือน และมากกว่า 1,000 บาทต่อเดือน และเหตุผลในการซื้อ คือ เน้นรสชาติเป็นหลัก ตามด้วยราคา การบำรุงสุขภาพ รวมทั้งนิยมซื้อผลไม้แบบเลือกได้

“ผลการสำรวจ สรุปได้ว่า ผู้บริโภคชาวไทยนิยมบริโภคผลไม้ โดยเน้นความชอบในรสชาติเป็นสำคัญ และจะเลือกซื้อ ณ สถานที่จำหน่ายที่มีความสะดวก ราคาเหมาะสม สินค้ามีคุณภาพ และสามารถเลือกสินค้าได้ ส่งผลให้ตลาดสด ตลาดนัด ร้านผลไม้ และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีคุณสมบัติข้างต้น รวมถึงการจำหน่ายแบบไม่แพก ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเลือกสินค้าเอง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิตผลไม้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะรสชาติ และเชื่อมโยงผลผลิตไปยังตลาดที่ได้รับความนิยม พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางสั่งซื้อโดยตรงเพื่อจับตลาดผู้มีกำลังซื้อสูง”นายพูนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการดูแลและบริหารจัดการผลไม้ โดยได้ติดตามสถานการณ์การผลิตและจำหน่ายอย่างใกล้ชิด โดยได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้รวบรวม โรงงาน ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างท้องถิ่น และสถานีบริการน้ำมัน เข้าไปรับซื้อผลไม้เป็นการล่วงหน้า และเพิ่มช่องทางระบายผลไม้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโมบายธงฟ้า หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ส่วนตลาดต่างประเทศ ได้มีการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้การขนส่งผลไม้ทางเรือ และทางถนนผ่านด่านการค้าต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องตัว

นอกจากนี้ ล่าสุดได้ดำเนินการตามข้อสั่งการนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้และพืชเศรษฐกิจตัวรอง 11 ชนิด ได้แก่

  1. ทุเรียน
  2. มังคุด
  3. เงาะ
  4. ลองกอง
  5. ลำไย
  6. สับปะรด
  7. ลิ้นจี่
  8. ส้มโอ
  9. ส้มเขียวหวาน
  10. มะยงชิด
  11. มะม่วง

โดยจะเข้าไปดูแลตั้งแต่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดจนจบฤดูกาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง