คัดลอก URL แล้ว
พอช. ดึงขบวนองค์กรชุมชน – ภาคีเครือข่ายร่วมถอดบทเรียนครั้งสำคัญ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย

พอช. ดึงขบวนองค์กรชุมชน – ภาคีเครือข่ายร่วมถอดบทเรียนครั้งสำคัญ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย

เมื่อวันที่ 8 – 9  มิถุนายน  2567  พอช. ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชน ประชุมออกแบบ สรุปแนวทางและรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อรวบรวมมุมมองภาพในอนาคตของการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางทั่วประเทศร่วมกัน โดยมีผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้แทนเครือข่ายชุมชนริมรางทั้ง 5 ภูมิภาค เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รวมกว่า 60 คน เพื่อวางแผน และออกแบบการขับเคลื่อนงานร่วมกัน ถึง “ภาพอนาคตชุมชนริมรางกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”
การพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีดังกล่าว ซึ่งจะทำอย่างไร เพื่อร่วมบูรณาการขับเคลื่อนงานและผลักดันในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางสู่เป้าหมายที่กำหนดร่วมกันได้ ภายใต้ 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้กล่าวให้แนวคิดในงานสัมมนาสรุปบทเรียนและออกแบบการสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตชุมชนคนริมราง ว่า การเชื่อมโยงภาคีหน่วยงานและการพัฒนาการออกแบบในการขับเคลื่อนงานเพื่อเชื่อมโยงงานนโยบายทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย จะนำไปสู่การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันได้นั้น กลไกสำคัญที่สุดคือ “กลไกระดับชุมชน” เพราะเป็นการทำงานในระดับพื้นที่ ที่มีการทำงานได้อย่างเป็นจริง และเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกส่วนงานเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการพัฒนาชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง การระดมปัญหาที่มาจากชุมชนเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้จริง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในด้านที่อยู่อาศัย ใช้การพูดคุยหารือ ระดมความคิดจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องในการพัฒนา การรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อยกระดับกลุ่มเป็นสหกรณ์ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีระบบการบริหารจัดการที่ดี และเพื่อบริหารสัญญาเช่าที่ดิน บริหารโครงการ งบประมาณ และดูแลสมาชิก กลุ่ม และคาดว่าในปี 2567 นี้จะมีการจัดตั้งสหกรณ์ของบ้านมั่นคงชุมชนริมรางได้กว่า 11สหกรณ์ และจะพัฒนาระบบสหกรณ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงริมรางอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ได้ออกแบบกลไกการขับเคลื่อนงานที่จะสร้างความมั่นคงในด้านที่ดิน ด้านที่อยู่อาศัย และให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เปลี่ยนวิธีคิดจากแค่การทำบ้าน สร้างบ้าน จัดการเรื่องโครงการสร้างบ้าน มาเป็น “การสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน” โดยการออกแบบวางแผนการทำงานเชิงรุกร่วมกัน

นายสยาม นนคำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า ความสำคัญและแนวทางสำคัญของการสร้างความมั่นคงที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตชุมชนริมราง ได้วิเคราะห์ถึงนโยบาย โอกาส และความท้าทายในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ว่า  การพัฒนาเมืองที่เติบโตขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรวมถึงบ้านเรือนที่สร้างอาศัยในที่ดินของการรถไฟ ทั้วประเทศ กว่า 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือนนั้น ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงาน โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางปี 2567 – 2568
 
ซึ่งที่ผ่านมา พอช. รฟท. เครือข่ายสัลม 4 ภาค และขบวนองค์กรชุมชน ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจสื่อสารแนวทางในการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงริมราง กับ ชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลางและตะวันตก โดยในเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม 2567  ที่ผ่านมารวม 14 จังหวัด 26 เวที 3,058 คน (212 ชุมชน) จากการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัว และสามารถสรุปข้อมูลรายชื่อผู้ซึ่งจะเข้าร่วมโครงการ นำส่งรายชื่อชุมชนกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วจำนวน 13,190 ครัวเรือน และคาดว่าภายในปี 2567 นี้จะสามารถสรุปข้อมูลรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากระบบราง เพิ่มเติมอีก 13,894  ครัวเรือน จนครบตามเป้าหมายรวม 27,084 ครัวเรือน

ปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชุมชนริมราง เพื่อรับงบประมาณสนับสนุน จาก พอช. ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 409 ครัวเรือน  ภาคเหนือ 26 ครัวเรือน ภาคใต้ 359 ครัวเรือน ภาคกลางและตะวันตก 212 ครัวเรือน รวม1,006 ครัวเรือน งบประมาณสนับสนุนรวม 130,489,824 บาทและสิ่งสำคัญจะต้องมีพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จเป็นเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดำเนินงานควบคู่กันไป ที่สำคัญคือต้องสร้างกระบวนการทีมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมถึงหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการออกแบบวางแผน การพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัย ตลอดจนการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยของชุมชนในระยะยาว ไปพร้อมๆกัน จึงเป็นที่มาของการสัมมนาสรุปบทเรียนและออกแบบการทำงานร่วมกันในครั้งนี้
 
นายอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตคนริมรางสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะชุมชนเมืองเป็นแหล่งทำมาหากิน ฉะนั้นเขาจึงอยากอยู่ในเมือง เขารู้ว่าจะอยู่แบบเดิม แบบเป็นสลัมไม่ได้ เมืองต้องพัฒนา ซึ่งเขาก็เห็นด้วย ไม่มีใครปฏิเสธโครงการของการรถไฟ ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองเจริญ เพียงแต่ขอแบ่งพื้นที่เพื่อให้ชุมชนได้เช่าอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย แบ่งที่ให้เราหน่อยได้ไหม สัก 5 เปอร์เซ็นต์ อีก 95 เปอร์เซ็นต์ จะไปให้ภาคธุรกิจ ภาคมหาเศรษฐี หรือเอาไปลงทุนอะไรก็ว่าไป” การแบ่งปันพื้นที่ให้ลักษณะนี้มีตัวอย่างรูปธรรมที่ดำเนินการและประสบความสำเร็จ 61 ชุมชน เช่น ชุมชนบริเวณตลาดน้ำตลิ่งชัน ชุมชนทับแก้วย่านคลองตัน ซึ่งสภาพที่อยู่อาศัยปัจจุบันไม่ใช่สลัม แต่เป็นบ้านเรือนที่ถูกกฎหมายแล้ว  จากมติของบอร์ด รฟท. ในปี 2543 ได้เช่าที่อย่างถูกต้องเกือบหมดแล้ว และปัจจุบันก็จะขยับพื้นที่ให้ครอบคลุม 300ชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดคุณภาพชีวิต เกิดความมั่นใจของชาวบ้าน พอที่ดินเขาถูกกฎหมาย เขาก็กล้าที่จะเดินเรื่องการพัฒนาด้านอื่น เช่น อาชีพ ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม”

ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ในเวทีสัมมนาได้กำหนดแผนในการปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางในระยะยาวร่วมกัน โดยมีแผนการดำเนินงานในปี 2567 – 2568 รวม 5 ภูมิภาคกว่า 45 ชุมชน จำนวน 2,568 ครัวเรือน ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 15ชุมชน 823 ครัวเรือน ภาคเหนือ 3 ชุมชน 63 ครัวเรือน  ภาคใต้ รวม 18 ชุมชน 1,359 ครัวเรือนภาคภาคกรุงเทพฯปริมณฑล ตะวันออกภาคกลางและตะวันตก รวม 9 ชุมชน 323 ครัวเรือน นอกจากนี้ในเวทียังได้กำหนดกรอบประเด็นเนื้อหาอื่นๆ อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การจัดทำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ในการยื่นเช่าที่ดิน รฟท. ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน การสร้างพื้นที่รูปธรรมเพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการพัฒนาโครงการในวงกว้างมากยิ่งขึ้น การพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ การสร้างเครือข่าย กลไกและขบวนองค์กรชุมชน การเชื่อมโยงภาคีพัฒนาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ๆ ดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพทีมทำงานให้มีประสิทธิภาพ ความรู้ความเข้าใจในงานเป็นอย่างดี เพื่อนำความรู้ ทักษะ ไปปรับใช้กับการทำงานที่มีบริบทแตกต่างกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง สู่เป้าหมายที่ทำให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วทุกครัวเรือน ภายใต้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรวม 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน.