คัดลอก URL แล้ว
วันสิ่งแวดล้อมโลก’67 กมธ.อากาศสะอาด สานพลัง สสส. หนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ฝุ่น PM 2.5

วันสิ่งแวดล้อมโลก’67 กมธ.อากาศสะอาด สานพลัง สสส. หนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ฝุ่น PM 2.5

วันสิ่งแวดล้อมโลก’67 กมธ.อากาศสะอาด สานพลัง สสส. หนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ฝุ่น PM 2.5 ปกป้องสุขภาพคนไทย ปลอดภัยจากมลพิษ มั่นใจกฎหมายเสร็จบังคับใช้ภายในปี 2567 เพื่อมอบอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. 2567 ณ อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระประเทศไทย..วาระโลก : แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ลดโลกเดือด”

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … กล่าวว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ เป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึง ระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเร่งพิจารณา

“พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดน มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วน ขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย” นายจักรพล กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ มีผู้ป่วยฯ มากกว่า 400,000 คน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษ PM2.5 สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)

“สสส. มุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วยการเสนอนโยบาย สร้างสรรค์งานวิชาการ เสริมหนุนประชาสังคม และสื่อสารสังคม มีผลงานที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.), เสริมหนุนเครือข่ายสภาลมหายใจ 15 จังหวัด สานพลังภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน, สร้างโมเดลต้นแบบ Low Emission Zone ใน 5 เขตของกรุงเทพฯ, จัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ก้าวกระโดดไปมากกว่า 600 โรงเรียน, จัดทำต้นแบบห้องปลอดฝุ่น 1,000 ห้องทั่วประเทศ, จัดเวทีวิชาการระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สรุปข้อเสนอและนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … 1 ใน 7 ร่างที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ นับเป็นข่าวดีที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ที่มีสาระสำคัญในการกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. วุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายลูก ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีการเผาใหญ่ที่สุด อยู่ในเขตป่า 64% โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ รองลงมาคือพื้นที่การเกษตร 26.8% โดยเฉพาะนาข้าว ที่มีการเผาฟางช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งที่สามารถใช้ปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นชีวมวลได้ จึงต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแปรรูป การขนส่ง และการตลาด ซึ่งจะช่วยลดการเผาได้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อน เกินกำลังกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายเครื่องมือ ไม่สามารถจัดการได้เฉพาะในช่วงฤดูฝุ่น 3 เดือน แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ด้วยสูตร 8-3-1 คือ 8 เดือนช่วงดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไข ออกแบบกลไก วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ลดการเผา 3 เดือนช่วงเผชิญเหตุ การเฝ้าระวังจุดความร้อน การบังคับใช้กฎหมาย และ 1 เดือนช่วงฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เชื่อว่า พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … จะช่วยอุดช่องวางการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงาน ระบบงบประมาณ ลดปัญหาความล่าช้า โดยหวังว่าวันที่ 7 ก.ย. “วันอากาศสะอาดสากล” พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้แล้ว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง